วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต

              เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า หัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือ หากไม่ใช่การทำเพื่อการค้าและมีการอ้างอิงที่มา ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ลดลงหรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ ดังนี้
              ๑. ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น กรณีข้อเท็จจริงรวมทั้งข่าวที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
              ๒. การดาวน์โหลด ถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน
              ๓. บทความหรือรูปภาพ เป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fairuse) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
              ๔. การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย
             ๕. การแฮ็ก หรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
                 การลบลายน้ำดิจิทัลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดก่อให้เกิดให้ความสะดวกหรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
                 การปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน
                 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ ๒๐,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ บาท กรณีเพื่อการค้า ปรับ ๑๐๐,๐๐๐ - ๘๐๐,๐๐๐ บาท หรือจำคุก ๖ เดือนถึง ๔ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
                 ฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ ๑๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐  บาท กรณีเพื่อการค้า ปรับ ๕๐,๐๐๐ - ๔๐๐,๐๐๐ บาท หรือจำคุก ๓ เดือน ถึง ๒ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ๖. การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ในกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ นั้นต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น
             ๗. การทำบล็อก และ embed โพสต์ของยูทูบมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ในกรณีของการแชร์ลิงค์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์
             ๘. การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้นสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้
              ๙. ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล
             ๑๐. เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล
(ที่มา Matichon Online // http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1438664531&grpid=00&catid=00
(ย่อ) เรื่อง ๑๐ ข้อต้องรู้ พรบ.ลิขสิทธิ์ ฉบับล่าสุด ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๒:๐๘:๐๐ น.)

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำร้องทุกข์หรือแจ้งเป็นหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๖๔๔/๒๕๔๙
ป.อ. มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗), ๑๒๐, ๑๒๑ วรรคสอง
                  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๓ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอร้องให้ ส. ไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่น โดยบอกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่า “จึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป” ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น
                  เมื่อข้อความในสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๗๑๔/๒๕๓๓
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗), ๑๒๑, ๑๒๓
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓, ๔
                  ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตอนแรกระบุว่า “โจทก์มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย” แต่ในตอนท้ายระบุว่า “ร้อยเวรสอบสวนได้รับแจ้งไว้แล้ว สอบถามผู้แจ้งยืนยันว่ายังไม่มอบคดีแก่พนักงานสอบสวน เพียงแต่ต้องการนำเช็คไปฟ้องร้องต่อศาลทางหนึ่งก่อน”
                  ดังนี้ คำของโจทก์ที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ยังไม่มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าโจทก์กล่าวหาโดยมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๗) คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๙๒๔/๒๕๓๒
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗)
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
                   ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า “โจทก์มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่อไป”
                   แสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ส่วนข้อความตอนท้ายหมายความว่า นอกจากโจทก์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการกับจำเลยแล้ว โจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองอีกส่วนหนึ่งด้วย การที่โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปจึงไม่มีผลกระทบต่อการแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ข้อความในรายงานดังกล่าวจึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ในเวลาไม่เกิน ๓ เดือน นับแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค และนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด ๕ ปี คดีไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา ๙๖

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สถิติคดีอาญา ๔ กลุ่ม

สถิติคดีอาญา
ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำสถิติคดีอาญา โดยแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ ๑.  คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ
                  ๑.๑  ฆ่าผู้อื่น  (คดีอุกฉกรรจ์)  (ม.๒๘๗ - ๒๘๙)
                  ๑.๒  ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย  (ม.๒๙๐)
                  ๑.๓  พยายามฆ่า  (ม.๘๐ + ๒๘๘, ๒๘๙)
                  ๑.๔  ทำร้ายร่างกายสาหัส  (ม.๒๙๗, ๒๙๘)
                  ๑.๕  ข่มขืนกระทำชำเรา  (ม.๒๗๖, ๒๗๗ ทวิ , ๒๗๗ ตรี)
กลุ่มที่ ๒.  ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
                  ๒.๑  ปล้นทรัพย์ (คดีอุกฉกรรจ์) (ม.๓๔๐, ๓๔๐ ทวิ, ๓๔๐ ตรี)
                  ๒.๒  ชิงทรัพย์   (ม.๓๓๙, ๓๓๙ ทวิ)
                          ๒.๒.๑  บาดเจ็บ  (คดีอุกฉกรรจ์)  (ม.๓๓๙, ๓๓๙ ทวิ วรรค ๓,๔,๕)
                          ๒.๒.๒  ไม่บาดเจ็บ  (ม.๓๓๙ , ๓๓๙ ทวิ วรรค ๑,๒)
                  ๒.๓  วิ่งราวทรัพย์ (ม.๓๓๖)
                  ๒.๔  ลักทรัพย์
                          ๒.๔.๑  รถยนต์
                          ๒.๔.๒  รถจักรยานยนต์
                          ๒.๔.๓  อื่น ๆ
                  ๒.๕  กรรโชกทรัพย์   (ม.๓๓๗)
                  ๒.๖   ฉ้อโกงประชาชน  (ม.๓๔๓)
                  ๒.๗  รับของโจร   (ม.๓๕๗)
                  ๒.๘  ลักพาเรียกค่าไถ่   (ม.๓๑๓ - ๓๑๖)
                  ๒.๙  วางเพลิง   (ม.๒๑๗ - ๒๒๐)
กลุ่มที่ ๓.  คดีความผิดพิเศษ
                  ๓.๑  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
                  ๓.๒  พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
                  ๓.๓  พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
                  ๓.๔  พ.ร.บ.สิทธิบัตร
                  ๓.๕  พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
                  ๓.๖  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
                  ๓.๗  ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์  (ป.อาญา ม.๒๖๙/๑ - ๒๖๙/๗)
                  ๓.๘  พ.ร.บ.ป่าไม้
                  ๓.๙  พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
                  ๓.๑๐  พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
                  ๓.๑๑  พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
                  ๓.๑๒  พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม
                  ๓.๑๓  พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์
                  ๓.๑๔  พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน
                  ๓.๑๕  พ.ร.บ.ศุลกากร
                  ๓.๑๖  พ.ร.บ.ฟอกเงิน
                  ๓.๑๗  พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา        

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

บันทึกความร่วมมือ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ

แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา 
ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔
-------------------
                  กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือประชาชน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๒๕๕๗ 
                  กระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งที่ ๕๐๔/๒๕๕๗ ลง ๓๐ ธ.ค.๒๕๕๗ มอบหมายให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสำนักงานตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ และได้มีประกาศกระทรวงยุติธรรม ลง ๒๘ ม.ค.๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ (ฉบับที่ ๓) 

                  หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่  ประกอบด้วย 
                  ๑. หน่วยที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาของ ตร. มีอำนาจหน้าที่ในการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา 
                  ๒. พนักงานเจ้าหน้าที่  ประกอบด้วย 
                       (๑)  ผบ.ตร.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจทั่วราชอาณาจักร  
                       (๒)  ผบช.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน 
                       (๓)  ผบก.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
                       (๔)  หัวหน้าสถานีตำรวจ  หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
                       (๕)  ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไปซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน

                   พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดังนี้
                    (๑)  แจ้งสิทธิ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ แก่ผู้เสียหายหรือทายาท และผู้ต้องหาในคดีอาญา กล่าวคือ เมื่อสอบปากคำผู้เสียหายหรือทายาทในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๙ (คลิกดูที่นี่) ให้แจ้งผู้เสียหายหรือทายาททราบว่า มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.นี้ โดยให้ยื่นแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ต่อพนักงานสอบสวน
                   (๒)  หากผู้เสียหายหรือทายาทประสงค์จะยื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
                         โดยจัดทำคำขอให้ผู้เสียหายหรือทายาทลงชื่อตามแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ในส่วนที่ ๑ แล้วรับรองในบันทึกของพนักงานสอบสวนจากการสอบสวนในเบื้องต้น ส่วนที่ ๒ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกอบคำขอที่เกี่ยวข้องตามส่วนที่ ๓ ของแบบ สชง. ๑/๐๑ มีดังนี้
                            -  กรณีบาดเจ็บ (ผู้เสียหายยื่นด้วยตนเอง)  ได้แก่
                                 (ก)  เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียหาย (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
                                 (ข)  ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและหรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
                                 (ค)  ใบรับรองแพทย์โดยแพทย์ระบุอาการ และหรือระยะเวลาการรักษาพยาบาล
                                 (ง)  กรณีผู้เสียหายมอบอำนาจ เอกสารส่วนบุคคลของผู้รับมอบอำนาจพร้อมใยมอบอำนาจ (แบบ สชง. ๗/๑)
                           -  กรณีเสียชีวิต  ได้แก่
                                (ก)  เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิต และทายาท (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
                                (ข)  ใบมรณบัตร
                           -  กรณีบาดเจ็บแล้วเสียชีวิต  ได้แก่ เอกสารตามข้อ (๑) และ (๒)
                   (๓)  ยกเลิกหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๓/๔๐๓๘ ลง ๒๖ พ.ย.๒๕๕๕ เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา และถือปฏิบัติตามหนังสือนี้แทน

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

หนังสือมอบอำนาจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๒๓/๒๕๕๐
ป.วิ.พ. มาตรา ๙๓ (๒) (เดิม)
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
             โจทก์นำสืบส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาสืบแต่อย่างใด
             การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าว จึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารนั้นมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงสามารถรับฟังเป็นพยานเอกสารได้
             เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังที่จำเลยอ้างไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๗๖/๒๕๔๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑, ๑๒๓, ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑, ๖๖, ๗๐, ๗๕
             บริษัท ย. จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ได้มอบอำนาจให้บริษัท ค. จำกัด โดยนาย พ. มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ กับทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวแทนผู้เสียหายได้
             แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายคือ บริษัท ค. มิใช่นาย พ.  นาย พ. ในฐานะส่วนตัวจึงไม่อาจมอบอำนาจช่วงให้นาย ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ แต่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจว่า นาย พ. ได้มอบอำนาจช่วงให้นาย ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะที่นาย พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การแจ้งความร้องทุกข์โดยนาย ป. ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนาย พ. จึงเป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบ เพราะกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจร้องทุกข์
             ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาความผิดนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๔๑๐/๒๕๔๖
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๓
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๔
                 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ก็บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"
                 แม้ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ อันเป็นเจตนารมณ์ที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่ว ๆ ไป ก็ตาม แต่ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ ๒ ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น
              ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้นาย ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ เพื่อให้รับผิดในฐานะที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ว่าเป็นจำเลยที่ ๒ นี้ แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ภายในอายุความแล้ว.

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๑๕/๒๕๕๒
ป.วิ.พ. มาตรา ๘๖, ๘๗
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
              ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ที่ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว...” ซึ่งเอกสารสัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างส่ง มีลักษณะเป็นตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร เมื่อเอกสารสัญญากู้เงินตามที่โจทก์อ้างมิได้ปิดอากรแสตมป์ และตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งตรงกับต้นฉบับ มีการปิดอากรแสตมป์เพียง ๘๐ บาท ไม่ครบถ้วนจำนวน ๒๐๐ บาท ตามกฎหมาย สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ประกอบกับจำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะมีการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวโดยพลการ โดยที่จำเลยไม่รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์จึงไม่อาจอาศัยหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกฎหมายได้
              ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖
              การยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้เงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอดังกล่าวหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๘๙/๒๕๕๒
ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒ วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
              ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อได้บัญญัติไว้เพียงว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแล้ว จึงย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น
              ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น การที่โจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้บริบูรณ์ทันทีในขณะทำสัญญาเช่าซื้อหาเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๘๒/๒๕๕๐
ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๗, ๑๑๘
            การที่โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนแล้ว และประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๗ ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ แต่การปิดแสตมป์นั้นโจทก์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะนำสัญญากู้ยืมเงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาด
            เมื่อโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว สัญญากู้ยืมเงินย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้...” ถือได้ว่า โจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง
            (หมายเหตุ.- ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ บัญญัติห้ามมิให้ใช้ตราสารที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานใดคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่ชอบ เพราะการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องพยานหลักฐานจะต้องกระทำก่อนหรือในขณะนำสัญญากู้ยืมเงินมานำสืบเป็นพยานหลักฐาน เมื่อนำสืบพยานหลักฐานเสร็จสิ้นจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่สามารถไปแก้ไขข้อบกพร่องของพยานหลักฐานดังกล่าวได้
           (พรเพชร วิชิตชลชัย)

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ

             กระแสการปฏิรูปตำรวจด้วยการแยกหน่วยงานสอบสวนออกเป็นองค์กรอิสระ มีสายการบังคับบัญชาแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำให้พนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็น โดยมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแยกงานสอบสวน สาเหตุมาจากในอดีตสถานีตำรวจหลายแห่งเริ่มขาดแคลนพนักงานสอบสวน เพราะข้าราชการตำรวจสมัครใจโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่นกันหมด เช่น งานสืบสวน และงานป้องกันปราบปราม เป็นต้น เนื่องจากงานสอบสวนเป็นงานที่ต้องอยู่กับการพิมพ์เอกสารเป็นหลัก ออกเวรแล้วต้องติดตามตัวพยานมาสอบปากคำ และมีระเบียบ คำสั่ง ที่ออกมากำชับให้ปฏิบัติตามให้ทันระยะเวลาอันมีจำกัด พนักงานสอบสวนบางคนหลงลืมและเลินเล่อจนผิดระเบียบ คำสั่ง อีกทั้ง สายงานสอบสวนมักจะถูกร้องเรียนเป็นประจำ และหาความก้าวหน้าได้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องคลุกคลีอยู่กับประชาชนในระดับล่างมากกว่าจะอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับสูง แต่เดิมรายได้ก็ไม่ได้แตกต่างจากสายงาน ในอดีตผู้บังคับบัญชาได้แก้ปัญหาด้วยการสั่งย้าย รอง สวป. ที่มีคุณวุฒิด้านกฎหมาย มาดำรงตำแหน่ง รอง สวส. เพื่อทำหน้าที่สอบสวน แต่ไม่นานนัก พนักงานสอบสวนก็เริ่มขาดแคลนอีก เพราะภาระงาน รายได้ และความก้าวหน้า ไม่ได้จูงใจให้น่าอยู่ตามเหตุผลข้างต้น
               วิธีการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนที่ขาดแคลนและขาดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการในระยะหลัง คือ ทำให้พนักงานสอบสวนก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ในอดีต การจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจะต้องมีตำแหน่งว่างก่อนจึงจะโยกย้ายไปแทนตำแหน่งที่ว่างได้ แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหาทำให้ได้พนักงานสอบสวนที่เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ได้ทำงานอยู่สถานีตำรวจแห่งเดิม ได้ด้วยเลขตำแหน่งเดิม ไม่ต้องย้ายไปทำงานที่แห่งใหม่ มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย และไม่ต้องย้ายสถานที่ทำงานบ่อย ๆ  โดยไม่ต้องโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างในสถานีตำรวจแห่งอื่น นอกจากนี้ ในอดีต ถ้าเป็นสารวัตรแล้วก็ไม่ต้องเข้าเวรและไม่ต้องทำสำนวนการสอบสวนอีก แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหา ทำให้ได้พนักงานสอบสวนในระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ที่เลื่อนตำแหน่งนี้มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคราวนี้จึงทำให้พนักงานสอบสวนได้รับความก้าวหน้า ส่วนหน่วยงานก็ได้พนักงานสอบสวนมาเข้าเวรทำสำนวนต่อเนื่องไปอีก
                เมื่อพนักงานสอบสวนเข้าสู่ยุคของการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปริ้นเตอร์ มาใช้ในงานสอบสวน ทุกคนต่างต้องแสวงหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้แทนเครื่องพิมพ์ดีดเพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนพนักงานสอบสวนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อุปกรณ์เครื่องพิมพ์เหล่านี้ค่อนข้างเสื่อมค่าเร็ว พนักงานสอบสวนต้องจัดซื้อจัดหาแม้แต่กระดาษที่ใช้พิมพ์ก็ต้องซื้อด้วยเงินของตนเอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งและค่าทำสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่นำมาซื้ออุปกรณ์ในการทำงานได้ แต่สถานีตำรวจบางแห่ง ก็มีปัญหาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ หรือค่าไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนบางคนต้องนำเงินตอบแทนที่ได้มาไปเติมน้ำมันรถและจ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อบริการประชาชน ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้พนักงานสอบสวนนำไปเทียบเคียงกับหน่วยงานยุติธรรมอื่นที่ดีกว่า จึงทำให้อยากแยกตัวออกจากองค์กรตำรวจ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อประชาชนว่า เมื่ออำนาจสอบสวนอยู่หรือแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ๒ ประการ คือ
              ประการแรก การสืบสวนกับการสอบสวน เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันหรือเรียกได้ว่า "เป็นของคู่กัน" แม้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะบัญญัติความหมายแยก "การสืบสวน" ออกจาก "การสอบสวน" แต่ในด้านการปฏิบัติงานแล้ว คำว่า "สืบสวนสอบสวน" แทบจะแยกจากกันไม่ออก เพราะการสอบสวนต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ไม่ว่า เป็นการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ เพื่อเก็บข้อมูลบุคคลที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอาญา การสืบสวนขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการซักถามพยานในที่เกิดเหตุ และจากพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในที่เกิดเหตุ ตลอดจนการติดตามแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานที่ต่อเนื่องมาจากการซักถามพยานหรือจากผู้ต้องสงสัย 

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

การทวงถามหนี้

เนื้อหาที่สำคัญและบทกำหนดโทษ (โดยย่อ)
                    มาตรา ๔
                    ผู้ทวงถามหนี้  หมายความว่า เจ้าหนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ด้วย
                   สินเชื่อ  หมายความรวมถึง สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิตการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
                   ลูกหนี้  หมายความรวมถึง ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย
                    มาตรา ๕
                    บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    มาตรา ๘
                    ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ บุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    หากจะติดต่อกับบุคคลอื่นก็ทำได้เพียงสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น และผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังนี้
                    -  แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาให้ทราบ  (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)
                    -  ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ ผู้นั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และผู้นั้นสอบถาม ก็ให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    -  ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใด ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 
                    - ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ เพื่อการทวงถามหนี้  (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)
                    มาตรา ๙
                    การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                    -  ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ หากไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ไม่สามารถติดต่อได้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
                    -  การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อเวลา ๐๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. และในวันหยุดราชการ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม และคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้
                    -  ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย
                   (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน

รวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

-  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒  (๑๐ เม.ย.๒๕๔๒)

-  พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒  พ.ศ.๒๕๔๖   (๙ ส.ค.๒๕๔๖)



สาระสำคัญ ในการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติ
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๗ 

                ข้อ ๔  ในกรณีที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษหรือจับกุมดําเนินคดีในความผิดมูลฐาน ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่หรือหน่วยงานซึ่งมีอํานาจหน้าที่ทําการสอบสวนในความผิดดังกล่าวดําเนินการสืบสวนสอบสวนว่ามีหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทําความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วยหรือไม่ หากปรากฏว่ามีการกระทําความผิดฐานฟอกเงินฐานหนึ่งฐานใดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนดําเนินการสืบสวนสอบสวนในความผิดฐานนั้นแล้วให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่หรือหน่วยงานนั้นรีบรายงานสํานักงานตามแบบที่เลขาธิการประกาศกําหนด
                ในกรณีที่พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ใดหรือหน่วยงานใด ได้ทําการสืบสวนสอบสวนในความผิดฐานฟอกเงินฐานหนึ่งฐานใดอยู่แล้ว ก็ให้ถือปฏิบัติตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม 
                นอกจากการรายงานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว เมื่อมีเหตุผลและความจําเป็นในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สํานักงานอาจขอให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่หรือหน่วยงานซึ่งมีอํานาจหน้าที่ทําการสอบสวนแจ้งหรือรายงานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมภายในกําหนดเวลาอีกก็ได้
               ลักษณะคดีที่ต้องรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการตามข้อ ๑๖ แห่งระเบียบนี้ 

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยย่อ)

กฎหมายโดยย่อเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.๒๕๕๑
            “มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
                  "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" หมายความว่า สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าการนั้น
                  “ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
                  “คณะกรรมการควบคุม” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
            “มาตรา ๒๙  ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้
                  (๑) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
                  (๒) บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้”
            “มาตรา ๔๐  ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๓๐  ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะ ดังต่อไปนี้
                 (๑) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ
                 (๒) การเร่ขาย
                 (๓) การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
                 (๔) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการการชิงโชคการชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
                 (๕) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณี หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
                 (๖) โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ”
            “มาตรา ๔๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๔๕  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการควบคุมมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และในการนี้ให้คณะกรรมการควบคุมมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปรียบเทียบได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ หรือเงื่อนไขประการใด ๆ  ให้แก่ผู้ได้รับมอบหมายตามที่เห็นสมควรก็ได้
               ในการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องมายังคณะกรรมการควบคุมหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการควบคุมมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
               เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

               คำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง การมอบหมายให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ (ฉบับที่ ๒) 
               ข้อ ๑ ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจดำเนินการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ เฉพาะบรรดาความผิดที่มีอัตราโทษอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง 
               ข้อ ๒ ให้ผู้รับมอบหมายตามข้อ ๑ ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่ได้บัญญัติไว้ในระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑

วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2558

ป้องกันโดยพลาดหรือประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๕๓๔/๒๕๔๔
ป.อ. มาตรา ๖๐, ๖๘
             ขณะที่ นาย ถ แวะเข้ามาทักทายจำเลยในร้านขายของชำของจำเลย ได้มี นาง จ ภริยานาย ถ พาชายสองคนมาพบนาย ถ โดยชายสองคนดังกล่าวได้พูดขอเงินค่ารถกลับบ้านที่จังหวัดลำปาง แต่นาย ถ ปฏิเสธ จึงถูกชายคนหนึ่งใช้ขวดสุราตีศีรษะและพวกวัยรุ่นที่รออยู่หน้าร้านอีก ๒ ถึง ๓ คน ได้เข้ารุมทำร้ายนาย ถ นาย ถ ร้องเรียกให้จำเลยช่วย จำเลยจึงหยิบอาวุธปืนของจำเลย ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครองจากลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน แล้ววิ่งออกไปที่หน้าร้านพร้อมร้องตะโกนให้หยุด และยิงอาวุธปืนขึ้นฟ้า ๓ นัด กลุ่มวัยรุ่นพากันวิ่งหนีไป ขณะนั้นมีเสียงดังจากอาวุธปืนของจำเลยอีก ๑ นัด กระสุนปืนถูกนาย ก ผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถึงแก่ความตาย
             ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้ายนาย ถ และหลังจากนั้นได้มีเสียงปืนนัดสุดท้ายดังขึ้นที่หน้าร้านขณะที่พยานก็เห็นจำเลยลุกขึ้นยืน คำพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้วได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงขณะนั้นเองอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด วิถีกระสุนย่อมเฉียงต่ำลงเป็นเหตุให้ถูกผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนและยิงกลุ่มวัยรุ่นแต่พลาดไปถูกผู้เสียหายกับผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ 
              พฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามช่วยเหลือนาย ถ เพื่อนบ้านที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกัน ซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นตีศีรษะด้วยขวดสุราและรุมทำร้ายในบ้านของจำเลย โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า ๓ นัด และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายถาวร แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลัง จนเป็นเหตุให้ล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน และของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ 
               แม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ จำเลยก็ไม่มีความผิดเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิด อาวุธปืนของกลางจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ (๑) ศาลจึงไม่อาจริบได้
               หมายเหตุ  
               การกระทำโดยป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ "เพื่อป้องกันสิทธิ" ผู้กระทำจึงต้องมีเจตนาธรรมดา กล่าวคือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเสียก่อน หากนายแดงก่อเหตุขึ้นก่อนด้วยการใช้ปืนจะยิงนายดำ นายดำกลัวตายจึงใช้ปืนของตนยิงนายแดงตาย นายดำมีเจตนาฆ่านายแดงเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผล แต่นายดำไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เพราะกระทำไป "เพื่อป้องกันสิทธิ" ในชีวิตของนายดำ 
               หากนายแดงหลบทันกระสุนจึงไปถูกนายเหลืองตาย นายดำอ้างป้องกันยกเว้นความผิดที่กระทำโดยเจตนาต่อนายแดงในความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงได้ และเมื่ออ้างป้องกันต่อนายแดงได้ แม้กระสุนไปถูกนายเหลืองจะเป็นเจตนาฆ่านายเหลืองโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๐ ก็สามารถอ้างป้องกันต่อนายเหลืองได้เช่นกัน จึงไม่มีความผิดต่อนายเหลืองในฐานฆ่านายเหลืองตายโดยพลาด หลักเรื่องป้องกันแล้วพลาดนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาหลายเรื่อง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๕/๒๕๑๖ เป็นต้น