การกำหนดวันมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา
การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา สามารถกำหนดได้หลายรูปแบบ ดังนี้
๑. ให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันประกาศ คือ ผู้มีอำนาจลงนามในประกาศวันไหน ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
๒. ให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
๓. ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็ให้มีผลบังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
๔. ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ให้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปอีก ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ วัน
ตัวอย่างเช่น
กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑ (ดูจากหัวกระดาษมุมบนขวา) จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑ ไปจนครบ ๖๐ วัน ซึ่งจะครบ ๖๐ วัน ในวันที่ ๒๙ ก.พ. ๒๕๕๑ กฎหมายให้ใช้บังคับเมื่อพ้น ๖๐ วัน ดังนั้น จึงเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป (กรณี ๙๐ วัน , ๑๒๐ วัน หรือ ๑๘๐ วัน ก็ใช้วิธีการนับเช่นเดียวกัน)
กรณีที่กฎหมายให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๕๑ วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจึงเป็นวันถัดไป คือวันที่ ๒ ม.ค. ๒๕๕๑
ซึ่งการกำหนดแบบนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือผู้ถูกบังคับได้รับรู้รับทราบหรือเตรียมตัวก่อนที่จะใช้กฎหมาย
(ที่มา : กระดานถาม-ตอบ ราชกิจจานุเบกษา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น