วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การดำเนินการกับผู้ป่วยคดี


* อ้างอิง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14  และ พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 35  มาตรา 36 
          
               ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีอาการป่วยทางจิตและได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอาญา ถือว่าเป็น "ผู้ป่วยคดี" การดำเนินคดีอาญาจะแตกต่างไปจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีอาการป่วยทางจิตแต่ยังไม่ได้กระทำความผิดอาญา 
               ผู้ป่วยคดี จึงเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกพนักงานสอบสวนได้สอบสวน หรือศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา แล้วเห็นว่ามีอาการป่วยทางจิตหรือเป็นผู้วิกลจริต จึงสั่งให้เข้ารับการตรวจหรือบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์ ทั้งก่อนหรือหลังที่มีคำพิพากษาในคดีอาญาด้วย
                พนักงานสอบสวนหรือศาล สามารถใช้ดุลยพินิจในการสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้ป่วยคดีได้ แล้วเรียกพนักงานแพทย์มาให้ถ้อยคำว่า ตรวจได้ผลประการใด ถ้าเห็นว่าไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ไว้จนกว่าผู้นั้นหายจากวิกลจริตหรือต่อสู้คดีอาญาได้ โดยศาลจะสั่งจำหน่ายคดีไปเสียชั่วคราวก็ได้ และให้ส่งตัวผู้ป่วยคดีไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือสถานบำบัดรักษา 
                สถานบำบัดรักษาหรือโรงพยาบาลโรคจิตมีอำนาจรับตัวผู้ป่วยคดีไว้ควบคุมและบำบัดรักษาได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ป่วยคดี จิตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยและทำความเห็นว่าสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ แล้วรายงานผลให้พนักงานสอบสวนหรือศาลทราบเบื้องต้นภายใน 45 วัน หรืออาจจะขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 45 วัน ในระหว่างนี้ พนักงานสอบสวนหรือศาลสามารถกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือการก่ออันตรายของผู้ป่วยคดีได้ จนกว่าจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้ 
                 ในกรณีที่จิตแพทย์เห็นว่า ผู้ป่วยคดียังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้รายงานผลการบำบัดรักษาทุก 180 วัน เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ก็ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า.

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

การดำเนินการกับผู้ป่วยทางจิต (ไม่มีคดี)

              ในกรณีที่มีผู้ป่วยทางจิตหรือผู้วิกลจริต เป็นผู้มีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา แต่ยังไม่ปรากฎว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดอาญา หากแต่บุคคลทั่วไปเห็นว่าผู้นั้นมีพฤติกรรมรุนแรงสามารถก่อเหตุอันตรายร้ายแรงต่อบุคคลและทรัพย์สินได้ทันที ก็ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ โดยมิชักช้า 
              เมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับแจ้งจากผู้พบเห็น หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวพบเห็นผู้ที่มีพฤติการณ์นั้นด้วยตนเอง ก็ให้รีบนำตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาที่อยู่ใกล้โดยมิชักช้า เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น โดยจะมีผู้รับดูแลไปด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่จะผูกมัดร่างกายไม่ได้ เว้นแต่จำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อผู้นั้นเอง ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น 
              ถ้าหากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวพบเห็นตั้งแต่แรกว่า ผู้ป่วยทางจิตมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายใกล้จะถึง ก็ให้มีอำนาจใช้วิธีการที่เหมาะสมและจำเป็นแก่พฤติการณ์ในการนำส่ง เพื่อป้องกันการขัดขวางหรือจะหลบหนี ระหว่างนำตัวผู้นั้นไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น ยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า