วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

การดำเนินการกับผู้ป่วยคดี


* อ้างอิง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14  และ พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 35  มาตรา 36 
          
               ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีอาการป่วยทางจิตและได้กระทำการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอาญา ถือว่าเป็น "ผู้ป่วยคดี" การดำเนินคดีอาญาจะแตกต่างไปจากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีอาการป่วยทางจิตแต่ยังไม่ได้กระทำความผิดอาญา 
               ผู้ป่วยคดี จึงเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกพนักงานสอบสวนได้สอบสวน หรือศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา แล้วเห็นว่ามีอาการป่วยทางจิตหรือเป็นผู้วิกลจริต จึงสั่งให้เข้ารับการตรวจหรือบำบัดรักษาโดยจิตแพทย์ ทั้งก่อนหรือหลังที่มีคำพิพากษาในคดีอาญาด้วย
                พนักงานสอบสวนหรือศาล สามารถใช้ดุลยพินิจในการสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้ป่วยคดีได้ แล้วเรียกพนักงานแพทย์มาให้ถ้อยคำว่า ตรวจได้ผลประการใด ถ้าเห็นว่าไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ไว้จนกว่าผู้นั้นหายจากวิกลจริตหรือต่อสู้คดีอาญาได้ โดยศาลจะสั่งจำหน่ายคดีไปเสียชั่วคราวก็ได้ และให้ส่งตัวผู้ป่วยคดีไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือสถานบำบัดรักษา 
                สถานบำบัดรักษาหรือโรงพยาบาลโรคจิตมีอำนาจรับตัวผู้ป่วยคดีไว้ควบคุมและบำบัดรักษาได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ป่วยคดี จิตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยและทำความเห็นว่าสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ แล้วรายงานผลให้พนักงานสอบสวนหรือศาลทราบเบื้องต้นภายใน 45 วัน หรืออาจจะขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 45 วัน ในระหว่างนี้ พนักงานสอบสวนหรือศาลสามารถกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือการก่ออันตรายของผู้ป่วยคดีได้ จนกว่าจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้ 
                 ในกรณีที่จิตแพทย์เห็นว่า ผู้ป่วยคดียังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้รายงานผลการบำบัดรักษาทุก 180 วัน เว้นแต่พนักงานสอบสวนหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ก็ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า.