ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ความหมาย(โดยย่อ)(มาตรา ๒ (๖)) "พนักงานสอบสวน" หมายความถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
(มาตรา ๒ (๑๑)) "การสอบสวน" หมายถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
อำนาจในการสอบสวนคดีอาญา
(มาตรา ๑๗) พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสอบสวนคดีอาญาได้
กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.๒๕๕๔ และกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๕
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓
(มาตรา ๑๘) ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
ความผิดอาญาเกิดในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนคนใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้นๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน กรณีในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น หรือผู้รักษาการแทน (ในที่นี้หมายถึง หัวหน้าสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน)
(มาตรา ๑๙) ในกรณีความผิดเกิดหลายท้องที่เกี่ยวข้องกันหรือต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ แต่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งหมายถึง ผู้ที่สรุปสำนวนและทำความเห็นทางคดีนั้น ถ้าเป็นกรณีที่จับผู้ต้องหาได้แล้วให้พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ให้พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
(มาตรา ๒๐) อัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีการกระทำความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย และให้ดุลพินิจในการมอบหมายหน้าที่การเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นให้พนักงานอัยการคนใดหรือพนักงานสอบสวนคนใด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ (หนังสือ คด. ที่ ๐๐๓๑.๒๑๒/๑๓๓๑ ลง ๒๙ ธ.ค.๒๕๔๙ เรื่อง หารือปัญหาการสอบสวนความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐)การชี้ขาดอำนาจสอบสวน
ในจังหวัดเดียวกัน ให้ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบชี้ขาด (ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑/๑ แก้ไขโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗) แต่ถ้าในระหว่างหลายจังหวัดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด การรอคำสั่งชี้ขาดนั้นไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน
ชื่อเรียกตำแหน่งพนักงานสอบสวน
ตำแหน่ง พนักงานสอบสวน ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อย่อและชื่อเต็ม ไม่เหมือนตำแหน่งอื่น ๆ ที่เคยคุ้นหู ดังนั้น ขออธิบายสั้น ๆ ว่า สายงานของตำรวจ ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าสามารถแบ่งได้ ๒ สายงาน คือ
(๑) สายงานสอบสวน ทำหน้าที่ ด้านสอบสวน คดีความ ทำสำนวนส่งอัยการ เป็นนักวิชาการ รู้ระเบียบกฎหมาย แล้วผู้ที่อาวุโสสูงสุดของสายสอบสวนในหน่วยงานจะทำหน้าที่ หัวหน้างานสอบสวน และอยู่ภายใต้การบริหารของสายงานหลัก ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า พงส. พงส.ผนก. พงส.ผนพ. พงส.ผทค. พงส.ผชช. และ พงส.ผชพ. เป็นต้น
(๒) สายงานหลัก ได้แก่ ป้องกันปราบปราม สืบสวน จราจร อำนวยการ ทำหน้าที่ในการออกตรวจป้องกัน ปราบปราม สืบจับ และบริหารงาน แล้วผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสถานีหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้น ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่า รอง สว. สว. รอง ผกก. ผกก. รอง ผบก. และ ผบก เป็นต้น
ต่อมา มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๕ ก.พ.๒๕๕๙ ยกเลิก ชื่อเรียกคำว่า “พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ และ พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ" ไม่ให้มีปรากฏใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๗ อีกต่อไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำหนดชื่อเรียกตำแหน่งสำหรับสายงานสอบสวน คือ ผกก.(สอบสวน) , รอง ผกก.(สอบสวน) , สว.(สอบสวน) และ รอง สว.(สอบสวน)
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การยกเลิกชื่อเรียกพนักงานสอบสวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น