วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความรู้เรื่องสถานบริการ (โดยย่อ)


พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙

              “มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
              “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้
                (๑) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ  (เช่น ดิสโก้เธค)
                (๒) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า  (เช่น โรงน้ำชา)
                (๓) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เว้นแต่     (เช่น สถานอาบอบนวด)
                      (ก) สถานที่ซึ่งผู้บริการได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายดังกล่าว หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  (เช่น นวดแผนไทย)
                     (ข) สถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะต้องมีลักษณะของสถานที่ การบริการหรือผู้ให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ประกาศดังกล่าวจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นด้วยก็ได้  หรือ    (เช่น  สปา)
                    (ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
             (๔) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                    (ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง และยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า    (เช่น คาเฟ่)
                    (ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า   (เช่น คาราโอเกะ)
                    (ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม   (เช่น ผับ)
                    (ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
             (๕) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา
             (๖) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

             สรุป.-  สถานที่มีดนตรี มีนักร้องหรือพนักงานขับร้องเพลงกับลูกค้าหรือนั่งกับลูกค้า เป็นสถานบริการ  หรือยินยอมให้มีการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่มหรือแสดงการเต้น เป็นสถานบริการ , สถานที่มีการจำหน่ายสุราและมีการแสดงอื่นใด แม้ว่าไม่มีพนักงานมานั่งกับลูกค้าและไม่มีการเต้นบริเวณโต๊ะก็ตาม แต่ถ้าเปิดเกินเวลา ๒๔.๐๐ น. ก็เป็นสถานบริการ

           “มาตรา ๔  ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
           “มาตรา ๒๖  ผู้ใดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือดำเนินกิจการสถานบริการเช่นว่านั้นในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือดำเนินกิจการสถานบริการผิดประเภทที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การยื่นคำขอตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘


              ความเป็นมา พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ มี.ค.๒๕๕๙ โดยมีบทเฉพาะกาล ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยเดิมที่มีอยู่ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ได้รับการยกเว้นในบางเรื่องโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องยื่นเรื่องต่อนายทะเบียนภายในกำหนด
              ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๑๒๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๕๙)
              พนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๙๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๕๙)
              ถ้าหากผู้ประกอบธุรกิจเดิม ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในกำหนด ก็จะสามารถประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของบริษัท หรือแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
              ถ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม ยื่นเรื่องภายในกำหนด ให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน และจะได้รับการยกเว้นคุณสมบัติ ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาตอนต้น) กรณีนี้หากไม่ดำเนินการให้ทันภายในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ จะต้องเสียสิทธิได้รับการยกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวนี้

              ระยะแรก ได้มีการร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกตามความ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยร่างกฎกระทรวงที่สำคัญในการรับคำขอใบอนุญาตและแบบคำขอรับใบอนุญาตแนบท้ายร่างกฎกระทรวง มีดังนี้
               ๑. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับและออกใบอนุญาต การขอต่อ และการอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาต การขอใบแทนและการออกใบแทนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ....   ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของบริษัทที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นแบบคำขออนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย (แบบ ธภ.๑) ได้ที่ท้องที่ที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลาง ณ สำนักงานทะเบียนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
               ๒. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ. ....   ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต โดยให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต (แบบ ธภ.๖) ได้ที่สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยตั้งอยู่ หรือสถานที่ทำงานปกติหรือภูมิลำเนาของผู้ยื่นคำขอ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ได้รับคำขอ ในกรณีจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่จัดทำหนังสือมอบให้ผู้ยื่นคำขอ เดินทางไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติที่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวจะรวบรวมคำขอพร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องนำส่งนายทะเบียนจังหวัดต่อไป
               คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต มีดังนี้

การนับวันมีผลบังคับใช้ ในราชกิจจานุเบกษา

การกำหนดวันมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา 

             การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา สามารถกำหนดได้หลายรูปแบบ ดังนี้
             ๑.  ให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันประกาศ  คือ  ผู้มีอำนาจลงนามในประกาศวันไหน ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
             ๒.  ให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
             ๓. ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็ให้มีผลบังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
             ๔. ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  ให้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปอีก ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ วัน
             ตัวอย่างเช่น
                     กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑ (ดูจากหัวกระดาษมุมบนขวา)  จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑  ไปจนครบ ๖๐ วัน  ซึ่งจะครบ ๖๐ วัน ในวันที่ ๒๙ ก.พ. ๒๕๕๑  กฎหมายให้ใช้บังคับเมื่อพ้น ๖๐ วัน  ดังนั้น  จึงเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๑  เป็นต้นไป (กรณี ๙๐ วัน , ๑๒๐ วัน  หรือ ๑๘๐ วัน  ก็ใช้วิธีการนับเช่นเดียวกัน)
                    กรณีที่กฎหมายให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๕๑  วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจึงเป็นวันถัดไป คือวันที่ ๒ ม.ค. ๒๕๕๑
              ซึ่งการกำหนดแบบนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือผู้ถูกบังคับได้รับรู้รับทราบหรือเตรียมตัวก่อนที่จะใช้กฎหมาย

(ที่มา : กระดานถาม-ตอบ ราชกิจจานุเบกษา)

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวทางประสานงานการสอบสวนคดีพิเศษ

แนวทางการประสานงานเพื่อปฏิบัติตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔
เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ
ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
               ข้อ ๑  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในคดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และเห็นว่า เรื่องที่การสืบสวนสอบสวนนั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
             (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
            (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
            (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
            (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
            ขอให้หน่วยงานเจ้าของสำนวน จัดการให้มีการส่งสำนวนการสอบสวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            กรณีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนและรับโอนสำนวนการสอบสวนมาเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ได้มีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามที่กำหนด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีคำสั่งให้คืนสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
            ข้อ ๒  กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และอธิบดีมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนคดีความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ แล้วต่อมาปรากฏว่า คดีดังกล่าวมีพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสอบสวนอยู่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะแจ้งคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ให้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ทำการสอบสวนทราบ และให้หน่วยงานจัดการส่งสำนวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗

ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
             กรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรว่า เรื่องที่การสืบสวนหรือป้องกันปราบปรามอยู่นั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
              (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
              (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
              (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
              (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
               ขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแล้วแต่กรณี แจ้งข้อมูลพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือจะทำเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ พร้อมพยานหลักฐาน ส่งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษขอความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๘๔๔/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๔๒, ๔๓)
             ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ครอบครองบ้าน ด้านทิศตะวันตกติดกับตึกแถวสามชั้นของผู้ถูกฟ้องคดีร่วม ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมได้ทำการซ่อมแซมตึกแถวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าอาคารพิพาทสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๓ และเป็นการสร้างที่ผิดแบบแปลนที่เทศบาลอนุญาต ซึ่ง ป. นายกเทศมนตรีตำบลท่าใหม่ในขณะนั้นได้มีหนังสือแจ้ง น. เจ้าของอาคารพิพาทเดิมให้ทำการแก้ไข แต่เจ้าของอาคารเดิมไม่ได้ดำเนินการใด ๆ
              อาคารพิพาทก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้นและยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ความไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงดำรงอยู่ ผู้เป็นเจ้าของครอบครองอาคารมีหน้าที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ จึงมีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้
             กรณีมิใช่นำกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมาใช้บังคับกับผู้ถูกฟ้องคดีร่วม และเมื่อคดีพิพาทนี้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒

คำชี้ขาดความเห็นแย้งฐาน ก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากความประสงค์ที่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากความประสงค์ที่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
(ชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๔๓๐/๒๕๕๔)
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ (มาตรา ๓๙ ทวิ)
             การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่าในการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุได้มีการก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนหลายรายการ และเป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม จึงออกคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสามระงับการก่อสร้าง ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่เกิดเหตุ รวมทั้งให้ดำเนินการแก้ไข และยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง โดยส่งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทั้งสามทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และปิดประกาศสำเนาคำสั่งไว้ที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ อาคารที่เกิดเหตุแล้ว แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้จัดให้มีเครื่องหมายแสดงการห้ามผู้ต้องหาทั้งสามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารหรือบริเวณอาคารที่เกิดเหตุไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ บริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด
              ดังนี้ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่ได้ดำเนินการออกคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งสามปฏิบัติให้ครบถ้วนตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๐ (๒) การที่ผู้ต้องทั้งสามยังคงใช้หรือเข้าไปในอาคารหรือบริเวณอาคารที่เกิดเหตุ จึงไม่มีความผิดฐาน "ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้หรือเข้าไปในอาคารหรือบริเวณอาคารที่เกิดเหตุซึ่งเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม"
             พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามฐาน "ร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชย์กรรมให้ผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต และร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างที่ผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต" นั้น เมื่อคดีได้ความจากการสอบสวนเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหาที่ ๑ ได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอทำการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุตาม มาตรา ๓๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ มิใช่เป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างตาม มาตรา ๒๕ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา ๓ นำมาเป็นเหตุผลในการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสาม
            เมื่อความปรากฏในชั้นพิจารณาชี้ขาดความเห็นแย้ง จึงเห็นควรใช้อำนาจอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๓๓ มาตรา ๑๕ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามฐาน "ร่วมกันก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากความประสงค์ที่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น" ตามมาตรา ๓๙ ทวิ และ "ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างอาคารที่ผิดไปจากความประสงค์ที่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น" ตามมาตรา ๓๙ ทวิ โดยถือเป็นการปรับบทกฎหมายในการลงโทษผู้กระทำความผิดให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

วิธีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

                         พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

             มาตรา ๕  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ –  ใช้เครื่องมือในการเจาะระบบไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Hardware หรือ Software ก็ตาม หรือใช้การปลอมแปลงไฟล์หรือชุดคำสั่ง เพื่อแฮคหรือแฝงตัวเข้ามาในเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น)
             มาตรา ๖  ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ - นำความรู้วิธีการแฮคระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นไปเปิดเผย)
             มาตรา ๗  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – แฮคข้อมูลของผู้อื่นหรือแอบเอารหัสของผู้อื่นไปเข้าดูข้อมูล หรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์)
             มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – ดักรับเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความลับของผู้อื่นที่กำลังรับส่งกันอยู่ หรือการพยายามที่จะทำตัวเป็นคนกลางเพื่อคอยดักเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยที่คู่สนทนาไม่รู้ตัว)
             มาตรา ๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง แก้ไข ลบ ทำลาย ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น)
             มาตรา ๑๐  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – ปล่อยไวรัสเข้าไปรบกวนการทำงานระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น หรือการโจมตีโดยคำสั่งลวงไปร้องขอการใช้งานจากระบบและการร้องขอในคราวละมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้ระบบหยุดการให้บริการ)
             มาตรา ๑๑  ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
             (วิธีการ – ส่งอีเมลขยะหรือลูกโซ่จำนวนมากโดยปกปิดหรือปลอมแหล่งที่มาไปสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น)  
             มาตรา ๑๒  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
               (๑)  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
               (๒)  เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
               ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี