วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ

             กระแสการปฏิรูปตำรวจด้วยการแยกหน่วยงานสอบสวนออกเป็นองค์กรอิสระ มีสายการบังคับบัญชาแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำให้พนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็น โดยมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแยกงานสอบสวน สาเหตุมาจากในอดีตสถานีตำรวจหลายแห่งเริ่มขาดแคลนพนักงานสอบสวน เพราะข้าราชการตำรวจสมัครใจโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่นกันหมด เช่น งานสืบสวน และงานป้องกันปราบปราม เป็นต้น เนื่องจากงานสอบสวนเป็นงานที่ต้องอยู่กับการพิมพ์เอกสารเป็นหลัก ออกเวรแล้วต้องติดตามตัวพยานมาสอบปากคำ และมีระเบียบ คำสั่ง ที่ออกมากำชับให้ปฏิบัติตามให้ทันระยะเวลาอันมีจำกัด พนักงานสอบสวนบางคนหลงลืมและเลินเล่อจนผิดระเบียบ คำสั่ง อีกทั้ง สายงานสอบสวนมักจะถูกร้องเรียนเป็นประจำ และหาความก้าวหน้าได้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องคลุกคลีอยู่กับประชาชนในระดับล่างมากกว่าจะอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับสูง แต่เดิมรายได้ก็ไม่ได้แตกต่างจากสายงาน ในอดีตผู้บังคับบัญชาได้แก้ปัญหาด้วยการสั่งย้าย รอง สวป. ที่มีคุณวุฒิด้านกฎหมาย มาดำรงตำแหน่ง รอง สวส. เพื่อทำหน้าที่สอบสวน แต่ไม่นานนัก พนักงานสอบสวนก็เริ่มขาดแคลนอีก เพราะภาระงาน รายได้ และความก้าวหน้า ไม่ได้จูงใจให้น่าอยู่ตามเหตุผลข้างต้น
               วิธีการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนที่ขาดแคลนและขาดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการในระยะหลัง คือ ทำให้พนักงานสอบสวนก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ในอดีต การจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจะต้องมีตำแหน่งว่างก่อนจึงจะโยกย้ายไปแทนตำแหน่งที่ว่างได้ แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหาทำให้ได้พนักงานสอบสวนที่เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ได้ทำงานอยู่สถานีตำรวจแห่งเดิม ได้ด้วยเลขตำแหน่งเดิม ไม่ต้องย้ายไปทำงานที่แห่งใหม่ มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย และไม่ต้องย้ายสถานที่ทำงานบ่อย ๆ  โดยไม่ต้องโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างในสถานีตำรวจแห่งอื่น นอกจากนี้ ในอดีต ถ้าเป็นสารวัตรแล้วก็ไม่ต้องเข้าเวรและไม่ต้องทำสำนวนการสอบสวนอีก แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหา ทำให้ได้พนักงานสอบสวนในระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ที่เลื่อนตำแหน่งนี้มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคราวนี้จึงทำให้พนักงานสอบสวนได้รับความก้าวหน้า ส่วนหน่วยงานก็ได้พนักงานสอบสวนมาเข้าเวรทำสำนวนต่อเนื่องไปอีก
                เมื่อพนักงานสอบสวนเข้าสู่ยุคของการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปริ้นเตอร์ มาใช้ในงานสอบสวน ทุกคนต่างต้องแสวงหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้แทนเครื่องพิมพ์ดีดเพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนพนักงานสอบสวนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อุปกรณ์เครื่องพิมพ์เหล่านี้ค่อนข้างเสื่อมค่าเร็ว พนักงานสอบสวนต้องจัดซื้อจัดหาแม้แต่กระดาษที่ใช้พิมพ์ก็ต้องซื้อด้วยเงินของตนเอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งและค่าทำสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่นำมาซื้ออุปกรณ์ในการทำงานได้ แต่สถานีตำรวจบางแห่ง ก็มีปัญหาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ หรือค่าไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนบางคนต้องนำเงินตอบแทนที่ได้มาไปเติมน้ำมันรถและจ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อบริการประชาชน ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้พนักงานสอบสวนนำไปเทียบเคียงกับหน่วยงานยุติธรรมอื่นที่ดีกว่า จึงทำให้อยากแยกตัวออกจากองค์กรตำรวจ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อประชาชนว่า เมื่ออำนาจสอบสวนอยู่หรือแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ๒ ประการ คือ
              ประการแรก การสืบสวนกับการสอบสวน เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันหรือเรียกได้ว่า "เป็นของคู่กัน" แม้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะบัญญัติความหมายแยก "การสืบสวน" ออกจาก "การสอบสวน" แต่ในด้านการปฏิบัติงานแล้ว คำว่า "สืบสวนสอบสวน" แทบจะแยกจากกันไม่ออก เพราะการสอบสวนต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ไม่ว่า เป็นการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ เพื่อเก็บข้อมูลบุคคลที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอาญา การสืบสวนขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการซักถามพยานในที่เกิดเหตุ และจากพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในที่เกิดเหตุ ตลอดจนการติดตามแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานที่ต่อเนื่องมาจากการซักถามพยานหรือจากผู้ต้องสงสัย 

              ในอดีต ประมาณก่อนปี พ.ศ.๒๕๓๓ งานสืบสวนกับสอบสวนเคยถูกดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจคนเดียวกัน ซึ่งเรียกชื่อตำแหน่งว่า "รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน" โดยจะทำหน้าที่ตั้งแต่เข้าเวรรับแจ้งความร้องทุกข์ ออกสืบสวนหาข่าวในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และเมื่อได้รับแจ้งเหตุหลังเกิดเหตุ ก็ทำการรวบรวมพยานหลักฐานและหาตัวผู้ต้องสงสัย จนเชื่อแน่ว่าเป็นผู้กระทำความผิด จึงได้พาเจ้าพนักงานตำรวจออกไปสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้พร้อมกับของกลางมาสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย เรียกได้ว่า มีการสืบสวนสอบสวนครบถ้วนกระบวนความ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนถึงหลังเกิดเหตุจนกระทั่งจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ แล้วก็ทำสำนวนการสอบสวนส่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ 
              ภายหลังมีผู้บังคับบัญชาเห็นว่า งานสืบสวน กับ งานสอบสวน ควรแยกจากกันเพื่อความสะดวกรวดเร็วโดยการแบ่งกันทำหน้าที่ในส่วนของตน โดยให้ผู้สืบสวนทำหน้าที่ออกสืบสวนแต่เพียงอย่างเดียว จึงแบ่งหน้าที่และแบ่งงานกันใหม่ เรียกชื่อตำแหน่งผู้สืบสวนว่า "รองสารวัตรสืบสวน" ส่วนผู้สอบสวนทำหน้าที่สอบปากคำพยานรวบรวมเอกสาร ภาพถ่าย และของกลางในที่เกิดเหตุหรือที่ผู้สืบสวนนำมามอบให้เรียกชื่อตำแหน่งว่า "รองสารวัตรสอบสวน" จนเปลี่ยนมาเรียกให้สอดคล้องกับกฎหมายว่า "พนักงานสอบสวน" ผลของการแบ่งงานและหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งสองฝ่ายเริ่มแยกห่างออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติแต่ละฝ่ายก็แตกต่างไปจากเดิม เพราะแต่ละฝ่ายเริ่มมีความรู้สึกว่า ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตนเอง ฝ่ายสืบสวนก็เน้นไปที่การสืบสวนจับกุมคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหายหรือคดีที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจเป็นหลัก ส่วนฝ่ายสอบสวนก็เน้นไปที่รูปแบบความสมบูรณ์ของการทำสำนวนการสอบสวนเป็นหลัก แนวคิดที่แตกต่างกันจึงเป็นที่มาของปัญหาหรือช่องโหว่ในการปฏิบัติงานเกิดขึ้น แม้ต่อมา ผู้บังคับบัญชาจะอุดช่องโหว่ด้วยการสั่งการให้จัดพนักงานสอบสวนคนหนึ่งทำหน้าที่สืบสวนและทำสำนวนสืบสวนคดีอาญาที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือทำสำนวนคดีที่เชื่อว่าอาจจะจับกุมตัวผู้ต้องหาหากมีการสืบสวนสอบสวนแยกต่างหากจากพนักงานสอบสวนโดยทั่วไปอีกหน้าที่หนึ่งก็ตาม หรือจะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจงานสืบสวนเข้าเวรคู่กับพนักงานสอบสวนเพื่อร่วมช่วยเหลือกันสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐาน หรือจะให้งานสอบสวนและงานสืบสวนอยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกันแล้วก็ตาม ก็ยังมิอาจแก้ปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
               ด้วยปัญหาที่กล่าวมา การแยกงานสอบสวน ออกไปจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ จึงมิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว ถ้าไม่มอบหมายหน้าที่สืบสวนให้กับพนักงานสอบสวนคนเดียวกันให้ทำหน้าที่ควบคู่กันไปด้วย แต่ถ้าหากว่าจะมอบหมายให้ทำหน้าที่ทั้งสอบสวนและสืบสวนไปด้วย ก็เสมือนกับการกลับหวนมาทำหน้าที่ในตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน ในอดีตอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ทำการสอบสวนคดีอาญา จึงเป็นปัญหาใหญ่ให้ชวนน่าคิดว่า หากจะแยกเอาทั้งงานสอบสวนและสืบสวนไป แล้วจะให้เจ้าพนักงานตำรวจที่เหลืออยู่นั้น ทำงานอะไร 
             ประการที่สอง ในการแยกงานสอบสวน ออกจากงานสืบสวน ซึ่งไม่ใช่องค์กรเดียวกัน หรือแม้จะอยู่ในองค์กรเดียวกัน แต่ผู้บังคับบัญชาเป็นคนละคนกัน การทำงานทั้งฝ่ายสืบสวนและฝ่ายสอบสวนย่อมจะมีการตรวจสอบซึ่งกันและกันว่า การดำเนินการของเจ้าพนักงานแต่ละฝ่ายกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มองในแง่ของการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ดูเหมือนว่า ประชาชนย่อมได้รับความเป็นธรรมจากการคานอำนาจกันของเจ้าพนักงานทั้งสองฝ่าย แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง หากการสืบสวนจับกุมสะดุดหยุดลงเพราะความไม่กล้าที่จะลงมือเสี่ยงจับผู้ต้องสงสัยมาซักถาม หรือกระทำการที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิดแล้ว คนกระทำผิดจำนวนมากก็จะลอยนวล ผู้เขียนจึงขอทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า  "ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการแยกงานสอบสวนออกไปจากสำนักงานตำรวจอย่างแท้จริงหรือไม่"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น