คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๓๔/๒๕๔๔
ป.อ.
มาตรา ๖๐, ๖๘
ขณะที่ นาย ถ
แวะเข้ามาทักทายจำเลยในร้านขายของชำของจำเลย ได้มี นาง จ ภริยานาย ถ
พาชายสองคนมาพบนาย ถ โดยชายสองคนดังกล่าวได้พูดขอเงินค่ารถกลับบ้านที่จังหวัดลำปาง
แต่นาย ถ ปฏิเสธ
จึงถูกชายคนหนึ่งใช้ขวดสุราตีศีรษะและพวกวัยรุ่นที่รออยู่หน้าร้านอีก ๒ ถึง ๓ คน ได้เข้ารุมทำร้ายนาย ถ นาย ถ
ร้องเรียกให้จำเลยช่วย จำเลยจึงหยิบอาวุธปืนของจำเลย
ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้มีไว้ในครอบครองจากลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน
แล้ววิ่งออกไปที่หน้าร้านพร้อมร้องตะโกนให้หยุด และยิงอาวุธปืนขึ้นฟ้า ๓ นัด กลุ่มวัยรุ่นพากันวิ่งหนีไป ขณะนั้นมีเสียงดังจากอาวุธปืนของจำเลยอีก ๑ นัด กระสุนปืนถูกนาย ก
ผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวถึงแก่ความตาย
ไม่มีพยานโจทก์ปากใดที่เบิกความว่า
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำพยานโจทก์ฟังได้ว่า
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้กลุ่มวัยรุ่นกลุ้มรุมทำร้ายนาย ถ
และหลังจากนั้นได้มีเสียงปืนนัดสุดท้ายดังขึ้นที่หน้าร้านขณะที่พยานก็เห็นจำเลยลุกขึ้นยืน
คำพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ว่า
เมื่อจำเลยยิงปืนขึ้นฟ้านัดที่ ๓ แล้วได้มีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังของจำเลย
จนเป็นเหตุให้จำเลยล้มลงขณะนั้นเองอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด
วิถีกระสุนย่อมเฉียงต่ำลงเป็นเหตุให้ถูกผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวผ่านมาได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวถึงแก่ความตาย
หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนและยิงกลุ่มวัยรุ่นแต่พลาดไปถูกผู้เสียหายกับผู้ตายดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่
พฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามช่วยเหลือนาย
ถ เพื่อนบ้านที่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกัน
ซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นตีศีรษะด้วยขวดสุราและรุมทำร้ายในบ้านของจำเลย
โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า ๓ นัด
และข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนายถาวร
แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลัง จนเป็นเหตุให้ล้มลง
และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด
ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย และถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย
พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน
และของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ
แม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๐ จำเลยก็ไม่มีความผิดเพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า
จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
และเมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิด
อาวุธปืนของกลางจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๓ (๑) ศาลจึงไม่อาจริบได้
หมายเหตุ
การกระทำโดยป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๘ ผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ
"เพื่อป้องกันสิทธิ" ผู้กระทำจึงต้องมีเจตนาธรรมดา กล่าวคือ
ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเสียก่อน
หากนายแดงก่อเหตุขึ้นก่อนด้วยการใช้ปืนจะยิงนายดำ นายดำกลัวตายจึงใช้ปืนของตนยิงนายแดงตาย
นายดำมีเจตนาฆ่านายแดงเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผล
แต่นายดำไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ เพราะกระทำไป
"เพื่อป้องกันสิทธิ" ในชีวิตของนายดำ
หากนายแดงหลบทันกระสุนจึงไปถูกนายเหลืองตาย
นายดำอ้างป้องกันยกเว้นความผิดที่กระทำโดยเจตนาต่อนายแดงในความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงได้
และเมื่ออ้างป้องกันต่อนายแดงได้
แม้กระสุนไปถูกนายเหลืองจะเป็นเจตนาฆ่านายเหลืองโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๐ ก็สามารถอ้างป้องกันต่อนายเหลืองได้เช่นกัน
จึงไม่มีความผิดต่อนายเหลืองในฐานฆ่านายเหลืองตายโดยพลาด
หลักเรื่องป้องกันแล้วพลาดนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาหลายเรื่อง
เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๕/๒๕๑๖ เป็นต้น
ตามตัวอย่างข้างต้น นายดำจะอ้างป้องกันในการกระทำต่อนายแดงและนายเหลืองได้ นายดำจะต้องกระทำโดย "เจตนา" ต่อนายแดงและนายเหลืองเสียก่อนซึ่งตามตัวอย่าง นายดำมีเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผลต่อนายแดง และมีเจตนาฆ่าโดยพลาด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๖๐) ต่อนายเหลือง จากนั้นจึงอ้าง "ป้องกัน" ตามมาตรา ๖๘ ในการกระทำต่อนายแดงและนายเหลือง เพื่อยกเว้นความผิด
ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๓๔/๒๕๔๔ นี้ ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า ๓ นัด และถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีก
แต่ถูกกลุ่มวัยรุ่นมาทุบที่ด้านหลัง
เป็นเหตุให้ล้มลงและกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้
ก็ต้องถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นเจตนาฆ่าประเภทประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลก็ตาม
ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๖๑/๒๕๒๘ ว่า
ถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าบุคคลใดจำเลยก็คงจะใช้อาวุธปืนจ้องยิงไปยังบุคคลนั้นแทนที่จะถือปืนชูขึ้นฟ้า
การที่จำเลยถือปืนชูขึ้นฟ้าย่อมแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้ใด
เมื่อข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๓๔/๒๕๔๔ นี้เป็นเรื่องจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่น
การที่กระสุนไปถูกผู้เสียหายบาดเจ็บและผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด
เพราะการกระทำโดยพลาด เป็นเรื่องของ"เจตนาโอน"
ซึ่งหมายความว่าจำเลยจะต้องมีเจตนากระทำต่อกลุ่มวัยรุ่นเสียก่อนการที่กระสุนไปถูกผู้เสียหายและผู้ตายจึงจะเป็นการกระทำโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๐ ซึ่งหากจำเลยมีเจตนา "ฆ่า" กลุ่มวัยรุ่น
เจตนาฆ่าดังกล่าวก็ "โอน" ไปยังผู้เสียหายและผู้ตายด้วย
จำเลยจึงมีความผิดต่อผู้เสียหายตามมาตรา ๒๘๘, ๖๐, ๘๐ และมีความผิดต่อผู้ตายตามมาตรา ๒๘๘, ๖๐, ๖๘ ซึ่งหากจำเลยอ้างป้องกันตามมาตรา ๖๘ ต่อกลุ่มวัยรุ่นได้ ก็ย่อมอ้างป้องกันตามมาตรา ๖๘ ต่อผู้เสียหายและผู้ตายได้เช่นกัน
เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาฆ่ากลุ่มวัยรุ่น
และไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายและผู้ตาย"โดยพลาด" ประเด็นเรื่อง
"เจตนาฆ่า" ก็หมดไป ความรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาก็ไม่มี
จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดย "ป้องกัน"
เพื่อยกเว้นความผิด เพราะเมื่อไม่มีเจตนาฆ่าเสียแล้ว จะไปอ้างเรื่อง
"ป้องกัน" มายกเว้นความผิดที่กระทำโดยเจตนาในฐานใด
ประเด็นจึงน่าจะอยู่ที่ว่า
จำเลยกระทำโดยประมาทและต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ และมาตรา ๒๙๑ หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรคสี่ นั้น
จะประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาจาก "ภาวะ วิสัย และพฤติการณ์"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๖๑/๒๕๒๘ วางหลักไว้ว่า
บุคคลที่ตกอยู่ในภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่กำลังหนีภัยจากการถูกรุมทำร้ายในขณะนั้น
ย่อมจะเกณฑ์ให้มีความระมัดระวังเหมือนอย่างบุคคลธรรมดาย่อมไม่ได้
น่าจะต้องถือว่า
จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๓๔/๒๕๔๔ นี้มิได้ประมาทเพราะ
"พฤติการณ์"
ขณะนั้นคือการช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ถูกรุมทำร้ายเป็นเหตุการณ์ฉุกละหุกจะให้ใช้ความระมัดระวังเหมือนอย่างอยู่ในเหตุการณ์ปกติธรรมดาคงไม่ได้
การที่ปืนลั่นออกมาถูกผู้เสียหายบาดเจ็บและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย
จึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๓๐๐ และมาตรา ๒๙๑
ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกานี้
จึงน่าจะเป็นเรื่องไม่มีความผิดเพราะ "ไม่ประมาท" ไม่น่าจะเป็นเรื่อง
"ป้องกันแล้วพลาด" แต่อย่างใด
"เกียรติขจร
วัจนะสวัสดิ์"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น