วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวทางประสานงานการสอบสวนคดีพิเศษ

แนวทางการประสานงานเพื่อปฏิบัติตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔
เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ
ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
               ข้อ ๑  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในคดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และเห็นว่า เรื่องที่การสืบสวนสอบสวนนั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
             (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
            (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
            (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
            (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
            ขอให้หน่วยงานเจ้าของสำนวน จัดการให้มีการส่งสำนวนการสอบสวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            กรณีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนและรับโอนสำนวนการสอบสวนมาเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ได้มีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามที่กำหนด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีคำสั่งให้คืนสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
            ข้อ ๒  กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และอธิบดีมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนคดีความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ แล้วต่อมาปรากฏว่า คดีดังกล่าวมีพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสอบสวนอยู่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะแจ้งคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ให้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ทำการสอบสวนทราบ และให้หน่วยงานจัดการส่งสำนวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗

ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
             กรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรว่า เรื่องที่การสืบสวนหรือป้องกันปราบปรามอยู่นั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
              (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
              (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
              (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
              (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
               ขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแล้วแต่กรณี แจ้งข้อมูลพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือจะทำเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ พร้อมพยานหลักฐาน ส่งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษขอความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม