แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา
ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔
-------------------
-------------------
กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือประชาชน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๒๕๕๗
กระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งที่ ๕๐๔/๒๕๕๗ ลง ๓๐ ธ.ค.๒๕๕๗ มอบหมายให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสำนักงานตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ และได้มีประกาศกระทรวงยุติธรรม ลง ๒๘ ม.ค.๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ (ฉบับที่ ๓)
หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย
๑. หน่วยที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาของ ตร. มีอำนาจหน้าที่ในการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
๒. พนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย
(๑) ผบ.ตร. หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน มีอำนาจทั่วราชอาณาจักร
(๒) ผบช. หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
(๓) ผบก. หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
(๔) หัวหน้าสถานีตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน(๕) ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไปซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดังนี้
(๑) แจ้งสิทธิ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ แก่ผู้เสียหายหรือทายาท และผู้ต้องหาในคดีอาญา กล่าวคือ เมื่อสอบปากคำผู้เสียหายหรือทายาทในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๙ (คลิกดูที่นี่) ให้แจ้งผู้เสียหายหรือทายาททราบว่า มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.นี้ โดยให้ยื่นแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ต่อพนักงานสอบสวน
(๒) หากผู้เสียหายหรือทายาทประสงค์จะยื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
โดยจัดทำคำขอให้ผู้เสียหายหรือทายาทลงชื่อตามแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ในส่วนที่ ๑ แล้วรับรองในบันทึกของพนักงานสอบสวนจากการสอบสวนในเบื้องต้น ส่วนที่ ๒ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกอบคำขอที่เกี่ยวข้องตามส่วนที่ ๓ ของแบบ สชง. ๑/๐๑ มีดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ (ผู้เสียหายยื่นด้วยตนเอง) ได้แก่
(ก) เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียหาย (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
(ข) ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและหรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
(ค) ใบรับรองแพทย์โดยแพทย์ระบุอาการ และหรือระยะเวลาการรักษาพยาบาล
(ง) กรณีผู้เสียหายมอบอำนาจ เอกสารส่วนบุคคลของผู้รับมอบอำนาจพร้อมใยมอบอำนาจ (แบบ สชง. ๗/๑)
- กรณีเสียชีวิต ได้แก่
(ก) เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิต และทายาท (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
(ข) ใบมรณบัตร
- กรณีบาดเจ็บแล้วเสียชีวิต ได้แก่ เอกสารตามข้อ (๑) และ (๒)
(๓) ยกเลิกหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๓/๔๐๓๘ ลง ๒๖ พ.ย.๒๕๕๕ เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา และถือปฏิบัติตามหนังสือนี้แทน
อ้างอิง
หนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๘๑๗ ลง ๑๑ มี.ค.๒๕๕๘ บันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลง ๘ ธ.ค.๒๕๕๗
หมายเหตุ.- ให้พนักงานสอบสวนออกใบรับคำขอ (แบบ สชง ๑/๑) ต้นฉบับให้ผู้ยื่นคำขอ และส่งคำขอในกรุงเทพฯ ให้ส่งไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ถ้าในจังหวัดอื่นให้ส่งไปตำรวจภูธรจังหวัด (ภ.จว.) เพื่อให้กรมคุ้มครองสิทธิ ดำเนินการจัดทำคำขอฯ ต่อไป
ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายอาจได้รับ ตาม มาตรา ๑๘
๑. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
๒. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท
๓. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติวันละไม่เกิน ๒๐๐ บาท ไม่เกิน ๑ ปี
๔. ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ตามที่เห็นสมควรไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
กรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย
๑. ค่าตอบแทนในกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เป็นเงินตั้งแต่ ๓๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
๒. ค่าจัดการศพ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท
๓. ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู เป็นเงินไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
๔. ค่าเสียหายอื่นตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น