วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต

              เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า หัวใจหลักของกฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ที่การห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือ หากไม่ใช่การทำเพื่อการค้าและมีการอ้างอิงที่มา ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ลดลงหรือกระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของเจ้าของ ดังนี้
              ๑. ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น กรณีข้อเท็จจริงรวมทั้งข่าวที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
              ๒. การดาวน์โหลด ถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรีก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน
              ๓. บทความหรือรูปภาพ เป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการก๊อปปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fairuse) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
              ๔. การนำงานมาใช้และเผยแพร่ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย
             ๕. การแฮ็ก หรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
                 การลบลายน้ำดิจิทัลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิดก่อให้เกิดให้ความสะดวกหรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
                 การปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน
                 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ ๒๐,๐๐๐ - ๒๐๐,๐๐๐ บาท กรณีเพื่อการค้า ปรับ ๑๐๐,๐๐๐ - ๘๐๐,๐๐๐ บาท หรือจำคุก ๖ เดือนถึง ๔ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
                 ฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ ๑๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐  บาท กรณีเพื่อการค้า ปรับ ๕๐,๐๐๐ - ๔๐๐,๐๐๐ บาท หรือจำคุก ๓ เดือน ถึง ๒ ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ๖. การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ในกรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ นั้นต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น
             ๗. การทำบล็อก และ embed โพสต์ของยูทูบมาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชน เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ในกรณีของการแชร์ลิงค์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์
             ๘. การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้นสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้
              ๙. ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล
             ๑๐. เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล
(ที่มา Matichon Online // http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1438664531&grpid=00&catid=00
(ย่อ) เรื่อง ๑๐ ข้อต้องรู้ พรบ.ลิขสิทธิ์ ฉบับล่าสุด ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๒:๐๘:๐๐ น.)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๕๖/๒๕๕๑
             โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า ลักษณะงานตามฟ้องจึงเข้าลักษณะเป็นงานศิลปประยุกต์ กล่าวคือ งานที่นำเอางานภาพการ์ตูนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น โดยนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าตามนิยามของคำว่า งานศิลปประยุกต์ ในมาตรา ๔ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗
             เมื่อตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุไว้ว่า งานของผู้เสียหายมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่องานศิลปประยุกต์ตามมาตรา ๒๒ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ บัญญัติไว้ว่าลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุ ๒๕ ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก เมื่องานตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวซึ่งมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ๒๕ ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกจึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ ขณะเกิดเหตุตามฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของ เครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้องจึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๔๕/๒๕๕๑
              แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๓ บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓ บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ต่อไป
            เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของบริษัทฟูจิโกะ-เอฟ-ฟูจิโอะ โปร จำกัด ผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ๓๐ ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๘ อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด ๑ โดยแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป
             การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๖ ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ๕๐ ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๑๙ วรรคท้าย
            การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น
             นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.๒๔๗๔ นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ                         
            ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๒๑ มาตรา ๕๐ วรรคสอง และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๘ วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า "ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้" ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๖ แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย
            คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ซึ่งยังอยู่ในกำหนดเวลาอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ๕๐ ปี นับแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายได้โฆษณางานเป็นครั้งแรก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายโดยการนำเสื้อเด็กซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าเพียง ๒ ตัว พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเพียงใด ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น