วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยย่อ)

กฎหมายโดยย่อเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ.๒๕๕๑
            “มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
                  "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" หมายความว่า สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าการนั้น
                  “ขาย” หมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
                  “คณะกรรมการควบคุม” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
            “มาตรา ๒๙  ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้
                  (๑) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
                  (๒) บุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้”
            “มาตรา ๔๐  ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๐ (๑) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๓๐  ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะ ดังต่อไปนี้
                 (๑) ใช้เครื่องขายอัตโนมัติ
                 (๒) การเร่ขาย
                 (๓) การลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย
                 (๔) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการการชิงโชคการชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
                 (๕) โดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกับสินค้าอื่น หรือการให้บริการอย่างอื่นแล้วแต่กรณี หรือแจกจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะเป็นตัวอย่างของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นการจูงใจสาธารณชนให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม
                 (๖) โดยวิธีหรือลักษณะอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ”
            “มาตรา ๔๑  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๔๕  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการควบคุมมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และในการนี้ให้คณะกรรมการควบคุมมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปรียบเทียบได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ หรือเงื่อนไขประการใด ๆ  ให้แก่ผู้ได้รับมอบหมายตามที่เห็นสมควรก็ได้
               ในการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องมายังคณะกรรมการควบคุมหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการควบคุมมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ
               เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่า คดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

               คำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง การมอบหมายให้ดำเนินการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ (ฉบับที่ ๒) 
               ข้อ ๑ ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจดำเนินการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ เฉพาะบรรดาความผิดที่มีอัตราโทษอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง 
               ข้อ ๒ ให้ผู้รับมอบหมายตามข้อ ๑ ดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่ได้บัญญัติไว้ในระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑

ระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
บัญชีอัตราการเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
       ยกตัวอย่าง เช่น  มาตรา ๒๙ ครั้งที่ ๑ ปรับ ๖,๐๐๐ บาท  ครั้งที่ ๒ ปรับ ๑๒,๐๐๐ บาท   ครั้งที่ ๓ ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ 
เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ พ.ศ. ๒๕๕๘  
แก้ไขเพิ่มเติมโดย ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ  (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘
            "เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ผู้มียศตั้งแต่สิบตำรวจตรีขึ้นไปและชั้นสัญญาบัตรผู้มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป เฉพาะในเขตท้องที่ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ"

            “มาตรา ๓๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
              (๑) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่ผลิต นำเข้า หรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานที่เก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น รวมถึงเข้าตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
              (๒) ยึดหรืออายัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
              (๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา”
            “มาตรา ๓๕  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อผู้รับอนุญาตหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
             บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๕๑
            ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของส่วนราชการซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคและหน่วยงานของส่วนราชการซึ่งเป็นราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นนอกจากกรุงเทพมหานคร

            “มาตรา ๓๖  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๓๔ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร”
            “มาตรา ๓๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา”
            “มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
             (๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา
             (๒) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
             (๓) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี
             (๔) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หรือสถานศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
             (๕) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
             (๖) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
             (๗) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ”
          “มาตรา ๒๗  ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
             (๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
             (๒) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา
             (๓) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
             (๔) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
             (๕) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
             (๖) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
             (๗) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
             (๘) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 
เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. ๒๕๕๕
             "ห้ามผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางในขณะขับขี่ หรือในขณะโดยสารอยู่ในรถ หรือ บนรถ
             คำว่า “ทาง” และ “รถ” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า “ทาง” และ “รถ” ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก"

            “มาตรา ๔๒  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๓๙  ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            “มาตรา ๒๘  ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน หรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใด ๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้
             บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการขายของผู้ผลิตผู้นำเข้าหรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา”

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘
           "ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ"

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๘
           "ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ยกเว้นการขายในกรณีดังต่อไปนี้
         (๑) การขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ
         (๒) การขายในสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ"

ระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ
ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑  แก้ไขโดย ระเบียบฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗
          ข้อ ๑๐ กรณีที่ผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดยินยอมให้ดำเนินการเปรียบเทียบ ให้ยื่นคำร้องขอให้เปรียบเทียบ (แบบ ปท.๒) ต่อผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ
          ข้อ ๑๑ กรณีที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบได้รับคำร้องขอให้เปรียบเทียบตามข้อ ๑๐ ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบดำเนินการ ดังนี้
             (๑) หากผู้มีอำนาจเปรียบเทียบพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีที่มีอำนาจเปรียบเทียบได้และสมควรเปรียบเทียบ โดยเห็นว่าผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดไม่ควรถูกดำเนินคดีทางศาลหรือได้รับโทษถึงจำคุก ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบดำเนินการเปรียบเทียบให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า และแจ้งให้ผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดนำเงินค่าปรับมาชำระให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น
                   ถ้าผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดไม่สามารถชำระเงินค่าปรับได้ภายในกำหนดเวลา ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
            (๒) หากผู้มีอำนาจเปรียบเทียบพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่มีอำนาจเปรียบเทียบได้ หรือไม่สมควรเปรียบเทียบ ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
                  กรณีที่ไม่สมควรเปรียบเทียบตามความใน (๒) ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบพิจารณาจาก ลักษณะหรือพฤติการณ์ของผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดและการกระทำผิด เช่น มีการกระทำความผิดเป็นกระบวนการ มีการกระทำผิดซ้ำซาก ผลของความเสียหายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดจงใจปฏิบัติอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.๒๔๙๓
           “มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
                 "สุรา" หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีอแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้ เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา”
           “มาตรา ๑๗  ห้ามมิให้ผู้ใดขายสุรา หรือนำสุราออกแสดงเพื่อขาย เว้นแต่ จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต”
           “มาตรา ๔๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ถ้าสุรานั้นเป็นสุราที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ถ้าสุรานั้นเป็นสุราที่ทำขึ้นในราชอาณาจักร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๕๓
           "ข้อ ๒  ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุราประเภทที่ ๓ ถึงประเภทที่ ๖ ตามความในกฎหมายว่าด้วยสุรา หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าว จำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา  และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจสำหรับนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น
                 ห้ามมิให้ผู้ใดดื่มสุราชนิดใด ๆ ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายสุรา เว้นแต่สถานที่ขายสุรานั้นได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ตามวรรคหนึ่ง จนถึงเวลาปิดทำการ
                 หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาต การอนุญาต การออกใบอนุญาต การแสดงใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การจำหน่ายสุราของผู้ได้รับใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมการออกและการต่ออายุใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
            ข้อ ๔  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคหนึ่ง หรือจำหน่ายสุราในเวลาห้ามจำหน่ายระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตตามข้อ ๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
            ข้อ ๕  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อ ๒ วรรคสอง หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
            สรุป : ตามประกาศนี้ การขายสุราจะต้องมีใบอนุญาต และต้องจำหน่ายในเวลา ๑๑.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. หรือเวลา ๑๗.๐๐ - ๒๔.๐๐ น. เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจาก ผบ.ตร (ใน กทม.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ในต่างจังหวัด)  อีกทั้ง ในระหว่างนั้น ลูกค้าจะดื่มสุราในสถานที่ขายสุราไม่ได้  เว้นแต่ สถานที่นั้นได้รับอนุญาตจาก ผบ.ตร (ใน กทม.) หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ในต่างจังหวัด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น