วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

ส่งสำนวนก่อนครบฝากสุดท้าย

บันทึกข้อความ 
ส่วนราชการ          กรมตำรวจ        กองคดี                                           โทร.๒๕๒-๗๙๓๑ 
ที่ ๐๖๐๓.๒/๒๗๙๘                                           วันที่   ๑๗  เมษายน  ๒๕๓๒
เรื่อง   การประสานงานและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณา 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ผบช.และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.หน่วยขึ้นตรงต่อ ตร.(ที่มีหน้าที่สอบสวนคดีอาญา) 
                    ตามคำสั่ง ตร. ที่ ๒๔๔/๒๕๓๒  ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๒ ได้กำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ให้ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วไม่เกิดการล่าช้าโดยเฉพาะในข้อ ๑.๔ ของคำสั่ง ตร. ดังกล่าว ในคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว หรือถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวน ได้กำหนดแนวทางให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและผู้บังคับบัญชา เร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะครบอำนาจผัดฟ้อง หรือฝากขัง ตามที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ให้อำนาจไว้ การขอผัดฟ้องหรือฝากขังให้กระทำในกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นเท่านั้น เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วให้รีบสรุปสำนวนมีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งคดี หรือพนักงานอัยการพิจารณาต่อไปทันทีไปแล้ว นั้น 
                  บัดนี้ จากการประชุมคณะผู้ประสานงานระหว่างกรมตำรวจกับกรมอัยการ ได้พิจารณาปัญหาอุปสรรคข้อขัดข้องในการปฏิบัติในหน้าที่ของพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ โดยคณะผู้ประสานงานกรมอัยการได้หยิบยกปัญหาเกี่ยวกับพนักงานสอบสวน ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการพิจารณาในระยะกระชั้นชิดที่ผู้ต้องหาจะครบอำนาจควบคุมฝากขังครั้งสุดท้าย ทำให้การตรวจสำนวนของพนักงานอัยการต้องกระทำด้วยความเร่งรีบมีเวลาจำกัด อาจมีข้อผิดพลาดอันจะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนคู่กรณีได้ จึงขอให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พิจารณาก่อนผู้ต้องหาจะครบกำหนดอำนาจควบคุมฝากขังครั้งสุดท้าย ๑ ครั้ง 
                ตร.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพนักงานอัยการมีความจำเป็นจะต้องตรวจสำนวนการสอบสวน ว่าคดีมีมูลความผิดตามที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาควรจะถูกฟ้องร้องให้ศาลลงโทษหรือไม่ ระยะเวลาจึงมีความจำเป็น เพราะพนักงานอัยการจะได้มีเวลาในการตรวจพิจารณาเกี่ยวกับพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงให้พนักงานสอบสวนถือเป็นทางปฏิบัติเพิ่มเติมจากคำสั่ง ตร.ที่ ๒๔๔/๒๕๓๒ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๒ อีกดังนี้ 
                ๑. ในคดีที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวหรือถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนรีบสอบสวนให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว โดยให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการพิจารณาก่อนที่ผู้ต้องหาจะครบอำนาจควบคุมฝากขังครั้งสุดท้าย ๑ ครั้ง 
                ๒. ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริงไม่อาจทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นไปทันตามกำหนดไว้ในข้อ ๑ เช่น มีความจำเป็นต้องไปติดตามพยานผู้เกี่ยวข้องในคดีมาสอบสวนให้ครบถ้วน เป็นต้น ให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวน รีบไปประสานกับพนักงานอัยการได้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนได้ทันกำหนด แต่อย่างไรก็ดีพนักงานสอบสวนจะต้องทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้น และเสนอสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการก่อนครบอำนาจฝากขัง ๓ วัน 
                 ๓. ในคดีที่มีข้อเท็จจริงยุ่งยากสลับซับซ้อน ให้ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะต้องไปประสานกับพนักงานอัยการได้ทราบข้อเท็จจริงและประเด็นปัญหาแห่งคดี อาจจะสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยย่อให้พนักงานอัยการได้ทราบถึงมูลเหตุที่มาของการสอบสวน และพยานหลักฐานที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหา อันจะเป็นผลให้การพิจารณาของพนักงานอัยการเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเกิดความสะดวกและรวดเร็ว เพราะมีพนักงานสอบสวนไปประสานให้ข้อมูลข้อเท็จจริง หากมีประเด็นข้อสงสัยก็สามารถสอบถามพนักงานสอบสวนได้ทันที 
                 จึงแจ้งมาให้ท่านสั่งพนักงานสอบสวนถือเป็นทางปฏิบัติในการประสานและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาโดยเคร่งครัดด้วย หากความปรากฏว่าพนักงานสอบสวนคนใดละเลยไม่ปฏิบัติหรือ ตร. ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการว่าพนักงานสอบสวนคนใดไม่ให้ความร่วมมือ ตร. จะพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยตามควรแก่กรณีต่อไป 
                                                                         (ลงชื่อ) พล.ต.อ.เภา สารสิน 
                                                                                           ( เภา สารสิน ) 
                                                                                                 อ.ตร.

วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้

ประมวลกฎหมายอาญา 
             มาตรา ๖๔   บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทําความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทํานั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทําไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๑๑/๒๕๔๕
ป.อ. มาตรา ๖๔
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๕๘, ๒๒๑
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๔๖๕  มาตรา ๑๕ , ๖๖
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ
              การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯและตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น โจทก์ไม่จำต้องแนบประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
              ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่าทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วขอให้การรับสารภาพ จึงถือว่าจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้วจำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้
             จำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามฟ้อง ทั้งยังแถลงรับว่า ร้อยตำรวจโท ว. เป็นผู้ตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางและของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ จริง ดังนั้น ข้ออ้างที่จำเลยฎีกาว่าของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้โต้แย้งมาก่อน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยจะโต้เถียงเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ของกลางหรือโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกหาได้ไม่ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จะรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ และแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้