วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิทยุคมนาคม วิทยุกระจายเสียง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๕๐
ป.อ. มาตรา ๙๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕
พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง, ๑๑ วรรคหนึ่ง, ๒๓
             การที่จำเลยมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ และการที่จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่นั้นมาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกัน แล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยในสองฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงต้องลงโทษจำเลยฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดคนละกรรมกัน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบมาตรา ๒๒๕ และสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
            พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดทั้งสองฐานนี้มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว
           
            (หมายเหตุ-  อำนาจเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘  มาตรา ๒๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจทำการเปรียบเทียบได้)

กฎหมายและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ 
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๔
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕
-  ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เพิ่มเติม
-  ไทยรัฐ ๑๔ มิ.ย.๒๕๕๖ 
-  คำสั่ง ตร.ที่ ๐๐๐๑(มค.๒)/๓๐๘ ลง ๒๗ ก.พ.๒๕๕๘

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

            การกระทำความผิดฐาน “มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ต้องมีบุคคลอย่างน้อยสามคนขึ้นไปรวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันกระทำความผิดร้ายแรงซึ่งหมายถึงความผิดที่กฎหมายลงโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือหนักกว่านั้น เพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุ การเงิน หรือทรัพย์สิน และเป็นกระทำลงในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ หรือมีการกระทำในรัฐหนึ่ง แต่มีการสนับสนุน ควบคุม สั่งการจากอีกรัฐหนึ่ง หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดมากกว่าหนึ่งรัฐ หรือทำให้เกิดผลของการกระทำสำคัญขึ้นในอีกรัฐหนึ่ง และผู้กระทำความผิดเป็นสมาชิกหรือเครือข่ายดำเนินงาน หรือสมคบกัน หรือรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินการกิจกรรม หรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำแล้วมีส่วนร่วมกระทำการใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรม หรือการดำเนินการ หรือจัดการ สั่งการ ช่วยเหลือ ยุยง อำนวยความสะดวกหรือให้คำปรึกษาในการกระทำผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินั้น
             ผู้กระทำความผิดฐาน “มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดลงมือกระทำความผิดร้ายแรงตามวัตถุประสงค์นั้น ผู้ที่มีส่วนร่วมต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน ถ้าผู้ใดกระทำความผิดฐานนี้นอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และความผิดฐานนี้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ซึ่งการกระทำนอกราชอาณาจักรหรือที่ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ตาม ป.อ. มาตรา ๔ วรรคสอง มาตรา ๕ ถึง มาตรา ๙  อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐ 
                ตัวอย่างที่ ๑  คนร้ายเป็นชาวต่างชาติสองคน เข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับเครื่องปลอมบัตรเครดิต โดยมีคนร้ายอีกคนหนึ่งอยู่ต่างประเทศเป็นผู้ใช้โทรศัพท์สั่งการ ควบคุม ช่วยเหลือในการส่งข้อมูลหมายเลขรหัสบัตรเครดิตที่ได้จากการนำเครื่องสกิมเมอร์ที่นำไปลักลอบติดตั้งไว้ตามตู้เอทีเอ็มในต่างประเทศ เมื่อคนร้ายที่อยู่ในประเทศไทยได้รับข้อมูลแล้ว ก็ทำบัตรปลอมขึ้นและใช้บัตรปลอมนั้นรูดซื้อสินค้าหรือถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทย แล้วแบ่งทรัพย์สินหรือเงินโอนกลับให้แก่คนร้ายในต่างประเทศ
               ตัวอย่างที่ ๒ กลุ่มคนร้ายชาวจีนจำนวน ๕๐ คน เดินทางมาอยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกันในประเทศไทย แล้วใช้การโทรศัพท์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยมีอุปกรณ์ให้แสดงหมายเลขโทรศัพท์ผิดไปจากความจริง แล้วโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายที่อยู่ในประเทศจีนให้โอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มของคนร้าย ด้วยการแสดงตนว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำการตรวจสอบพบว่าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายมีปัญหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องถูกอายัดเงิน จึงมีวิธีการแก้ไขให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของรัฐเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเงินเข้าบัญชีของกลุ่มคนร้ายจำนวนมาก เจ้าพนักงานตำรวจจีนจึงตรวจสอบการใช้โทรศัพท์แล้วพบว่า มีการกระทำผิดส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศไทยดังกล่าว

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.๒๕๕๖  

            มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
           “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง และร่วมกันกระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระทำความผิดร้ายแรง และเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
           “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
          (๑) ความผิดที่กระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ
          (๒) ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่การตระเตรียม การวางแผน การสั่งการ การสนับสนุน หรือการควบคุมการกระทำความผิดได้กระทำในอีกรัฐหนึ่ง
          (๓) ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดมากกว่าหนึ่งรัฐ
          (๔) ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่ผลของการกระทำที่สำคัญเกิดขึ้นในอีกรัฐหนึ่ง
          “ความผิดร้ายแรง” หมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
          “พนักงานสอบสวน” หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอัยการสูงสุด หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งให้ช่วยเหลือพนักงานสอบสวน ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดฐาน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม
ข้ามชาติตามพระราชบัญญัตินี้

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อสส. แจ้งแนวทางปฏิบัติตามประกาศ คสช. ฉ.115/2557 (ทำความเห็นแย้ง)

ด่วนที่สุด                                                      สำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๑๘๖                                                                   อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์  
                                                                                                         ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
                                                                                                         ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง 
                                                                                                         เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐  
                                                        ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗  
เรื่อง    แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  
เรียน    ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด 
            อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด 
            ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า
            พัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  สำเนาประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑
            กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

              ด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป นั้น 
             สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญา ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการอำนวยการยุติธรรมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นไปแนวทางเดียวกัน จึงกำหนดแนวทางให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้  
             ๑. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๒ ได้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๒ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน 
                 "ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป" 
                  กรณีดังกล่าวเป็นสำนวนคดีอาญาที่ปรากฎตัวผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้วไม่ว่ากรณีใด หากพนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาเนื่องจากหลบหนี หรือผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในอำนาจศาลที่จะรับฟ้อง ให้พนักงานอัยการรับสำนวนไว้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
             ๒. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๓ ที่ให้เพิ่มมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้พนักงานอัยการปฏิบัติต่อสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้  
                  ๒.๑ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ให้เสนอสำนวนคดีอาญาให้ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพิจารณา  
                  ๒.๒ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่มีความเห็น หรือมีความเห็นหลังวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้สำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องขอรับสำนวนคดีอาญาดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
              จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
                                                                                ขอแสดงความนับถือ 
                                                                                นายมนัส  สุขสวัสดิ์ 
                                                                      รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน 
                                                                                      อัยการสูงสุด 

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การแก้ไข ป.วิ.อ. ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557

           สาระสำคัญของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลง ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗ เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           ข้อ ๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           "มาตรา ๒๑/๑  สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด  การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"

            ความเห็นผู้บันทึก : จากบทบัญญัติ
                     "มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้นมีอำนาจชี้ขาด แต่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่รองอธิบดีกรมตำรวจขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด
                      ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัด ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
                      การรอคำชี้ขาดนั้น ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"  
            บทบัญญัติเดิมได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่บทบัญญัติเพิ่มเติมใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรณีนี้หมายถึงพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นผู้สอบสวนในคดีที่กฎหมายให้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น  เพราะบทบัญญัติมาตรา ๒๑/๑ ได้เปลี่ยนแปลงให้ผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้ชี้ขาดในคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจชี้ขาดในกรณีนี้อีกต่อไป)          

           ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            "ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป"

            ความเห็นผู้บันทึก : บทบัญญัติ
                    "มาตรา ๑๔๒   ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
                     แต่ถ้าเป็นความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน"
            แต่เดิมตามวรรคสาม มีการตีความว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ต้องส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ ถ้าไม่มีตัวผู้ต้องหาส่งไปพร้อมกับสำนวนด้วย พนักงานอัยการก็จะไม่รับสำนวน เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้วเท่านั้น แต่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ กำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติม คือ กรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป ก็ให้พนักงานสอบสวนสามารถส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการได้ และพนักงานอัยการต้องรับสำนวนนั้น

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง คสช. เกี่ยวกับอาวุธปืน ฯ

             ตามที่ คสช. ได้ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ เป็นต้นมา คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ
            ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนฯ เช่น
             -  คำสั่ง คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแก่การสงครามนำส่งมอบ  สาระสำคัญคือ ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดตามกฎหมาย นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ภายในวันที่ ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ ให้ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๒๐ ปี
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๓/๒๕๕๗ ลง ๓ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้ผู้กระทำความผิดในบางกรณีที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๕๗  สาระสำคัญคือ มิให้นำความในคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๙/๒๕๕๗ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการนำส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม สาระสำคัญคือ ให้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยให้ขยายระยะเวลาแก่ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ในการนำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ นำส่งมอบต่อไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ และให้ผู้ที่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเวลา ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนไม่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปีถึง ๒๐ ปี แต่มิได้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗  และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             สรุปได้ว่า  คสช. มีประกาศและคำสั่งให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นั้น นำส่งมอบให้นายทะเบียนท้องที่นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นกรณีที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
              ประเด็นข้อพิจารณา
              (๑)  ประกาศและคำสั่ง คสช. มิได้ยกเว้นความผิด เพียงแต่ยกเว้นโทษ ดังนั้น ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ก่อน ระหว่าง หรือหลังที่มีประกาศ คสช.ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
              (๒)  ถ้าส่งมอบล่วงเลยกำหนด คือ หลังวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ไปแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ แต่กรณีถ้ายังไม่เกินวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ นั้น ไม่ต้องรับโทษ โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๐๖/๒๕๓๑
             การที่จำเลยมิได้นำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ (ฉ.๘) พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๔ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จำเลยถูกจับคดีอันอยู่ในระยะเวลา ๙๐ วัน ที่จำเลยอาจนำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
             ส่วนที่มาตรา ๔ วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมและอยู่ในระหว่างสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ" นั้น หมายความว่า ผู้ที่ถูกจับ ถูกสอบสวน หรือถูกฟ้องอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยถูกจับหลังวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อายุความในความผิดอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา
           มาตรา ๙๕  ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
           (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
           (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
           (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
           (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
           (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
            ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี หรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
            มาตรา ๙๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           มาตรา ๓๙  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
           (๑) โดยความตายของผู้กระทำผิด
           (๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
           (๓) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
           (๔) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
           (๕) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
           (๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
           (๗) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๐๒/๒๕๕๔
ป.อ. อายุความ  มาตรา ๙๖
             เมื่อตามคําฟ้องของโจทก์ระบุว่า จําเลยไปเก็บเงินค่าสินค้าหลังสุด ในวันที่ ๒ และ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นําสืบให้เห็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นําสืบว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
             ดังนั้น แม้ตามพฤติการณ์ที่นาย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รู้ถึงการกระทำความผิด จะถือว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อนาย ส.เบิกความว่า ทราบเรื่องที่จําเลยมาเก็บเงินจากร้านค้าเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ แล้ว แต่โจทก์ร่วมได้มอบอํานาจให้นาย ส.ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ ก็มิได้หมายความว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ร่วมได้รู้การกระทำผิดของจําเลย เพราะโจทก์ร่วมอาจจะรู้มาก่อนหน้านี้นานแล้วก็เป็นได้
             เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดเจน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จําเลยว่าโจทก์ร่วมได้รู้ข้อเท็จจริงมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านาย ส. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๔ จึงเกินกว่า ๓ เดือน ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บรรยายฟ้องการกระทำโดยพลาด

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2554
ป.อ.  การกระทําโดยพลาด (มาตรา ๖๐)
ป.วิ.อ.  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง (มาตรา ๑๙๒)

              แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเจตนาจะยิงวัยรุ่นที่ทำร้ายร่างกายกันและยืนอยู่หลังรถโดยสารประจําทางในที่เกิดเหตุ แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายทั้งสอง
              ซึ่งตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจําเลยดังกล่าวเป็นการกระทําโดยพลาดมาด้วยก็ตาม แต่เรื่องพลาดเป็นเจตนาโดยผลของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๐ ว่า "ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น"
             ดังนั้น แม้ผลที่พลาดไปเกิดแก่บุคคลอื่น โดยผู้กระทําไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ก็ต้องถือว่าผู้กระทํามีเจตนากระทําต่อผู้ได้รับผลร้ายนั้นตามเจตนาแต่แรก คดีนี้จึงต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองด้วยตามฟ้อง
             เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒
             ส่วนที่โจทก์มิได้อ้างมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาด้วย ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ เพียงแต่โจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลย่อมพิพากษาโดยปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ไม่เป็นการเกินคำขอในฟ้องดังที่จําเลยฎีกา

วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คดีลิขสิทธิ์กรณีเปิดเพลงให้ลูกค้าร้องและฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๒๒๐/๒๕๕๓
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑, ๗๐ วรรคสอง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖
            โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๔, ๖, ๘, ๑๕, ๒๗, ๒๘, ๒๙, ๓๐, ๓๑, ๖๙, ๗๐, ๗๕, ๗๖ ริบโทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี และให้แผ่นซีดีเพลงจำนวน ๑๙ แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
           จำเลยให้การรับสารภาพ
           ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนให้แก่เจ้าของ
           โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
           ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ (๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน...” ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน “เพื่อหากำไร” ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้น หากจำเลยได้มา หรือจะได้มา จะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
           ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลง โดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลง หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด
           การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ ประกอบมาตรา ๗๐ วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๐๕๗๙/๒๕๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๕
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖
           คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์...” ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น “เพื่อหากำไร” เท่านั้น
           ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นปรากฏว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี ๓ และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหาย จำนวน ๑ เพลง เพียง “เพื่อประโยชน์ในทางการค้า” ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด
           การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑ เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

คดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๙๗๙ - ๘๙๘๐ /๒๕๕๔
ป.รัษฎากร ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์ หนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย (มาตรา ๑๑๘)
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ( มาตรา ๔)
             ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนํามารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
            จําเลยออกเช็คพิพาท ชําระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์มีสัญญาเช่าซื้อที่มิได้ปิดอากร
แสตมป์บริบูรณ์มาแสดง ถือได้ว่าจําเลยออกเช็คเพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๕๔/๒๕๓๕
ป.อ. มาตรา ๒ วรรคสอง
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔
              คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔  มาตรา ๔ บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  (๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ"
              การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดนั้นจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อน แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้มีชื่อได้นำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์ ก่อนออกเช็คจำเลยและโจทก์หามีหนี้ต่อกันไม่ การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายหลังที่ออกเช็คจำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๒ วรรคสอง

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๗๐/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ (มาตรา ๔ (๑) (๓))
             เช็คของกลางมีลายมือชื่อผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นผู้สั่งจ่าย แม้จะประทับตราของบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่ ๒ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ และเช็คของกลางดังกล่าวเป็นเช็คที่เปิดบัญชีไว้ในนามบริษัท พ. จำกัด มิใช่บัญชีของบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายคือผู้ต้องหาที่ ๒ ลงนามสั่งจ่ายพร้อมประทับตราบริษัท พ. จำกัด
             ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๒ จึงไม่ผูกพันกับบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ บริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้ต้องหาที่ ๒ ในความผิดฐานร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ให้ใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๕๓๒/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๑) (๓)      
             ในการซื้อขายแหวนเพชร ระหว่างนาง บ. กับผู้ต้องหา นาง บ. ผู้ขายได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แก่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้ว กรณีถือได้ว่า นาง บ.ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว จึงย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับคดีให้ผู้ต้องหาชำระราคาค่าแหวนเพชรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม
             แม้การซื้อขายแหวนเพชรดังกล่าวนาง บ.และผู้ต้องหาจะไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันไว้ก็ตาม การที่ผู้ต้องหาออกเช็คของกลางมอบให้นาง บ. เพื่อชำระหนี้ค่าแหวนเพชรดังกล่าวนั้น ขณะที่ออกเช็คและขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้ต้องหายังคงมีหน้าที่ต้องชำระค่าแหวนเพชรให้แก่นาง บ.ตามสัญญา เช็คของกลางจึงเป็นเช็คที่ออกโดยมีมูลหนี้ที่มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย
             เมื่อเช็คของกลางเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การที่นาง บ. มอบเช็คของกลางให้ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้ค่าแหวนเพชรดังกล่าว ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ทรงเช็คของกลางโดยชอบ เมื่อผู้เสียหายนำเช็คของกลางไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของผู้ต้องหาจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ฉ้อโกงและความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
.