ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๑๘๖ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗
เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เรียน ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด
อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด
ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า
พัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑
กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป นั้น
สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญา ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการอำนวยการยุติธรรมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นไปแนวทางเดียวกัน จึงกำหนดแนวทางให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้
๑. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๒ ได้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๒ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
"ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป"
กรณีดังกล่าวเป็นสำนวนคดีอาญาที่ปรากฎตัวผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้วไม่ว่ากรณีใด หากพนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาเนื่องจากหลบหนี หรือผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในอำนาจศาลที่จะรับฟ้อง ให้พนักงานอัยการรับสำนวนไว้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
๒. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๓ ที่ให้เพิ่มมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้พนักงานอัยการปฏิบัติต่อสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้
๒.๑ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ให้เสนอสำนวนคดีอาญาให้ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพิจารณา
๒.๒ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่มีความเห็น หรือมีความเห็นหลังวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้สำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องขอรับสำนวนคดีอาญาดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
นายมนัส สุขสวัสดิ์
รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน
อัยการสูงสุด
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๑๙๔ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง
เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐
๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เพิ่มเติม)
เรียน ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด
อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด
ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า
พัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน
อ้างถึง หนังสือสำนักงานอัยการ ด่วนที่สุด ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๑๘๖ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป นั้น
สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีกรณีถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาในหนังสือที่อ้างถึง รวมทั้งการปฏิบัติต่อสำนวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงและศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้
(๑) สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกา ที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่มีความเห็น หรือมีความเห็นหลังวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้สำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องขอรับสำนวนคดีอาญาดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๒) สำนวนคดีอาญาที่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกา ให้สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง หรือสำนักงานอัยการที่มีอำนาจพิจารณาคดีศาลแขวงปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๑๒
(๓) สำนวนคดีอาญาที่ปรากฎตัวผู้กระทำความผิดและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว ให้พนักงานอัยการปฏิบัติ ดังนี้
๓.๑ กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในข้อหาหรือฐานความผิดใดฐานความผิดหนึ่งที่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ให้พนักงานอัยการปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้นมีแต่เฉพาะข้อหาหรือฐานความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๑๒ ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖
๓.๒ กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา หากมีฐานความผิดใดฐานความผิดหนึ่งที่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ให้พนักงานอัยการปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากมีแต่เฉพาะข้อหาหรือฐานความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๑๒ ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
นายมนัส สุขสวัสดิ์
รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน
อัยการสูงสุด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
พ.ศ.๒๔๙๙
มาตรา ๑๒ ในคดีอาญาที่อยู่ในอํานาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้
ในกรณีที่มีคําสั่งไม่ฟ้อง และคําสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ
ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสํานวนการสอบสวนพร้อมกับคําสั่งเสนออธิบดีกรมตํารวจ
รองอธิบดีกรมตํารวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตํารวจ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสํานวนการสอบสวนพร้อมกับคําสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่ทั้งนี้ มิได้ตัดอํานาจพนักงานอัยการที่จะจัดการปล่อยผู้ต้องหา ปล่อยชั่วคราว
ควบคุมไว้ หรือขอให้ศาลขัง แล้วแต่กรณี และจัดการหรือสั่งการให้เป็นไปตามนั้น
ในกรณีที่อธิบดีกรมตํารวจ
รองอธิบดีกรมตํารวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตํารวจในกรุงเทพมหานคร
หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น
แย้งคําสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสํานวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาดแต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ
หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจําเป็นจะต้องรีบฟ้อง
ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตํารวจ รองอธิบดีกรมตํารวจ
ผู้ช่วยอธิบดีกรมตํารวจหรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน
บทบัญญัติในมาตรานี้
ให้นํามาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาหรือถอนฟ้อง
ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ.๒๕๕๓
มาตรา ๖ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
สรุป.- ในต่างจังหวัด คดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง และคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเฉพาะข้อหาหรือฐานความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกา ให้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนข้อหาหรือฐานความผิดใดฐานความผิดหนึ่งที่เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ให้เสนอผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น