วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อายุความในความผิดอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา
           มาตรา ๙๕  ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
           (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
           (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
           (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
           (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
           (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
            ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี หรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
            มาตรา ๙๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           มาตรา ๓๙  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
           (๑) โดยความตายของผู้กระทำผิด
           (๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
           (๓) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
           (๔) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
           (๕) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
           (๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
           (๗) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๐๒/๒๕๕๔
ป.อ. อายุความ  มาตรา ๙๖
             เมื่อตามคําฟ้องของโจทก์ระบุว่า จําเลยไปเก็บเงินค่าสินค้าหลังสุด ในวันที่ ๒ และ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นําสืบให้เห็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นําสืบว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
             ดังนั้น แม้ตามพฤติการณ์ที่นาย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รู้ถึงการกระทำความผิด จะถือว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อนาย ส.เบิกความว่า ทราบเรื่องที่จําเลยมาเก็บเงินจากร้านค้าเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ แล้ว แต่โจทก์ร่วมได้มอบอํานาจให้นาย ส.ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ ก็มิได้หมายความว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ร่วมได้รู้การกระทำผิดของจําเลย เพราะโจทก์ร่วมอาจจะรู้มาก่อนหน้านี้นานแล้วก็เป็นได้
             เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดเจน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จําเลยว่าโจทก์ร่วมได้รู้ข้อเท็จจริงมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านาย ส. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๔ จึงเกินกว่า ๓ เดือน ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๘๖/๒๕๕๑
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๖)
             เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๘ ผู้เช่าซื้อได้เช่าซื้อรถยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อ ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม ๓๖ งวด ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๑ จำเลยทั้งสองได้รับมอบรถยนต์ดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน ผู้เช่าซื้อติดตามรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนมา ปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวหายไป รวม ๑๐ รายการ
            แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ
             คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ โดยผู้เช่าซื้อรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ แต่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้ผู้เช่าซื้อไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๒ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา ๙๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๐๕/๒๕๐๔
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ (๓), ๘๐, ๓๐๔
ป.อ. มาตรา ๓, ๓๔๑
           กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ นั้น กำหนดอายุความฟ้องร้องคดีอาญาไว้ทุกประเภทความผิดลดหลั่นกันตามความสำคัญแห่งโทษ แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้ว กฎหมายได้กำหนดอายุความให้มีการร้องทุกข์ไว้ด้วยมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะให้คดีประเภทนี้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ซึ่งมิได้เป็นอายุความฟ้องคดีอาญาโดยตรง
          ความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะขาดอายุความตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๘๐ แต่ก็ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ เพราะอายุความร้องทุกข์ต้องอยู่ในบังคับอายุความฟ้องคดี
           การกระทำผิดคดีนี้ได้กระทำเมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญา จึงต้องใช้อายุความฟ้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๘ (๓) ซึ่งมีกำหนด ๕ ปี ส่วนอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๓) กำหนดให้ฟ้องภายใน ๑๐ ปี นั้น ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิด จะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้
          ดังนั้น ถ้าอายุความฟ้องคดีอาญาขณะกระทำผิดแตกต่างกับขณะฟ้อง ต้องใช้อายุความที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดบังคับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น