วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิทยุคมนาคม วิทยุกระจายเสียง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๕๐
ป.อ. มาตรา ๙๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕
พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง, ๑๑ วรรคหนึ่ง, ๒๓
             การที่จำเลยมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ และการที่จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่นั้นมาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกัน แล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยในสองฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงต้องลงโทษจำเลยฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดคนละกรรมกัน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ ประกอบมาตรา ๒๒๕ และสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
            พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และความผิดทั้งสองฐานนี้มีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงบทเดียว
           
            (หมายเหตุ-  อำนาจเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘  มาตรา ๒๑ ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีอำนาจทำการเปรียบเทียบได้)

กฎหมายและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.๒๔๙๘ 
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๔
-  พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕
-  ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เพิ่มเติม
-  ไทยรัฐ ๑๔ มิ.ย.๒๕๕๖ 
-  คำสั่ง ตร.ที่ ๐๐๐๑(มค.๒)/๓๐๘ ลง ๒๗ ก.พ.๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น