วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การแก้ไข ป.วิ.อ. ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557

           สาระสำคัญของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลง ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗ เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           ข้อ ๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           "มาตรา ๒๑/๑  สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด  การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"

            ความเห็นผู้บันทึก : จากบทบัญญัติ
                     "มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้นมีอำนาจชี้ขาด แต่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่รองอธิบดีกรมตำรวจขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด
                      ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัด ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
                      การรอคำชี้ขาดนั้น ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"  
            บทบัญญัติเดิมได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่บทบัญญัติเพิ่มเติมใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรณีนี้หมายถึงพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นผู้สอบสวนในคดีที่กฎหมายให้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น  เพราะบทบัญญัติมาตรา ๒๑/๑ ได้เปลี่ยนแปลงให้ผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้ชี้ขาดในคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจชี้ขาดในกรณีนี้อีกต่อไป)          

           ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            "ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป"

            ความเห็นผู้บันทึก : บทบัญญัติ
                    "มาตรา ๑๔๒   ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
                     แต่ถ้าเป็นความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน"
            แต่เดิมตามวรรคสาม มีการตีความว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ต้องส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ ถ้าไม่มีตัวผู้ต้องหาส่งไปพร้อมกับสำนวนด้วย พนักงานอัยการก็จะไม่รับสำนวน เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้วเท่านั้น แต่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ กำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติม คือ กรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป ก็ให้พนักงานสอบสวนสามารถส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการได้ และพนักงานอัยการต้องรับสำนวนนั้น



            ข้อ ๓  ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
            "มาตรา ๑๔๕/๑  สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓
             ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
             บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม"

             ความเห็นผู้เขียน : ตามบทบัญญัติ
                        "มาตรา ๑๔๕  ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรีให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๓  
                         ในกรณีที่อธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของอธิบดีกรมตำรวจรองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน  
                         บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกาหรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม"  
            จากการเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๑๔๕/๑ จึงเป็นการให้อำนาจแก่ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่น เป็นผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัด แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีสำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น