ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๑๒๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๕๙)
พนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๙๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๕๙)
ถ้าหากผู้ประกอบธุรกิจเดิม ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในกำหนด ก็จะสามารถประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของบริษัท หรือแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
ถ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม ยื่นเรื่องภายในกำหนด ให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน และจะได้รับการยกเว้นคุณสมบัติ ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาตอนต้น) กรณีนี้หากไม่ดำเนินการให้ทันภายในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ จะต้องเสียสิทธิได้รับการยกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวนี้
ระยะแรก ได้มีการร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกตามความ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยร่างกฎกระทรวงที่สำคัญในการรับคำขอใบอนุญาตและแบบคำขอรับใบอนุญาตแนบท้ายร่างกฎกระทรวง มีดังนี้
๑. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับและออกใบอนุญาต การขอต่อ และการอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาต การขอใบแทนและการออกใบแทนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. .... ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของบริษัทที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นแบบคำขออนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย (แบบ ธภ.๑) ได้ที่ท้องที่ที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลาง ณ สำนักงานทะเบียนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
๒. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ. .... ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต โดยให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต (แบบ ธภ.๖) ได้ที่สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยตั้งอยู่ หรือสถานที่ทำงานปกติหรือภูมิลำเนาของผู้ยื่นคำขอ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ได้รับคำขอ ในกรณีจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่จัดทำหนังสือมอบให้ผู้ยื่นคำขอ เดินทางไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติที่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวจะรวบรวมคำขอพร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องนำส่งนายทะเบียนจังหวัดต่อไป
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต มีดังนี้
คุณสมบัติ
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
(๓) สำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (ได้รับการยกเว้นเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้วภายในวันที่ ๑ มิ.ย.๒๕๕๙)
(๔) ได้รับหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง (ในวาระเริ่มแรก ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยได้รับยกเว้นไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย เป็นเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ)
ลักษณะต้องห้าม
(๑) เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษหรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกําหนด
(๒) เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เป็นผู้เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกสําหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตและมิใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต มาแล้วยังไม่ถึงสองปี นับถึงวันยื่นคําขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต
ระยะที่สอง วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นธุุรกิจรักษาความปลอดภัย ได้กําหนดให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกสามารถให้บริการรักษาความปลอดภัยโดยไม่เป็นธุรกิจรักษาความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๘ และในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๖๗/๒๕๕๙ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย ที่สำคัญมีดังนี้
(๑) แก้ไข มาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ เดิม ให้ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง จากเดิม ภายใน ๑๒๐ วัน นั้น แก้ไขใหม่เป็น ภายใน ๓๖๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ ๒๖ ก.พ.๒๕๖๐) และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน
(๒) แก้ไข มาตรา ๗๔ วรรคหนึ่ง เดิม ให้ผู้เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๙๐ วัน นั้น แก้ไขใหม่เป็น ภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ภายในวันที่ ๒๖ ก.พ.๒๕๖๐) และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน โดยให้นำลักษณะต้องห้ามในเรื่อง ไม่เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต มาใช้บังคับ และแก้ไขเรื่องคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาใหม่ว่า ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สำเร็จการศึกษา (เช่น แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๓ การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.๗ , แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๒๐ การศึกษาภาคบังคับ คือ ป.๖ และ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๕ การศึกษาภาคบังคับ คือ การศึกษาชั้นปีที่ ๑ ถึงชั้นปีที่ ๙ ของการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ)
ปัจจุบัน ในวันที่ ๑๔ มี.ค.๒๕๖๐ นายกรัฐมนตรี ออกกฎกระทรวง จำนวน ๔ ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑. กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๖๐
๒. กฎกระทรวงการอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๖๐
๓. กฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ. ๒๕๖๐
๔. กฎกระทรวงการรับรองสถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๖๐
(Update ; 2/05/2560)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น