วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

วิธีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

                         พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

             มาตรา ๕  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ –  ใช้เครื่องมือในการเจาะระบบไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Hardware หรือ Software ก็ตาม หรือใช้การปลอมแปลงไฟล์หรือชุดคำสั่ง เพื่อแฮคหรือแฝงตัวเข้ามาในเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น)
             มาตรา ๖  ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ - นำความรู้วิธีการแฮคระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นไปเปิดเผย)
             มาตรา ๗  ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – แฮคข้อมูลของผู้อื่นหรือแอบเอารหัสของผู้อื่นไปเข้าดูข้อมูล หรือทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์)
             มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – ดักรับเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความลับของผู้อื่นที่กำลังรับส่งกันอยู่ หรือการพยายามที่จะทำตัวเป็นคนกลางเพื่อคอยดักเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยที่คู่สนทนาไม่รู้ตัว)
             มาตรา ๙  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลง แก้ไข ลบ ทำลาย ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น)
             มาตรา ๑๐  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – ปล่อยไวรัสเข้าไปรบกวนการทำงานระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น หรือการโจมตีโดยคำสั่งลวงไปร้องขอการใช้งานจากระบบและการร้องขอในคราวละมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้ระบบหยุดการให้บริการ)
             มาตรา ๑๑  ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
             (วิธีการ – ส่งอีเมลขยะหรือลูกโซ่จำนวนมากโดยปกปิดหรือปลอมแหล่งที่มาไปสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น)  
             มาตรา ๑๒  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
               (๑)  ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
               (๒)  เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
               ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

             มาตรา ๑๓  ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             (วิธีการ – จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่ทำขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด)
             มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                (๑)  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
                (๒)  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
               (๓)  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
               (๔)  นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
               (๕)  เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
              (วิธีการ – สร้างเว็บไซต์ปลอม นำเรื่องเท็จหรือข้อมูลปลอมใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงผู้อื่นให้เสียหาย หรือตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรืออัพโหลดข้อมูลที่มีลักษณะลามก เข้าสู่ระบบ อีกทั้งการแชร์ข้อมูลนั้นต่อ ๆ กัน)
              มาตรา ๑๕  ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจ สนับสนุน หรือยินยอม ให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔
              (ผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการการเข้าถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ)
              มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด
             ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
             ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่ง ตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
             (วิธีการ – ตัดต่อภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวของผู้อื่นในลักษณะหมิ่นประมาท)

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ระเบียบว่าด้วยการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนการสอบสวนฯ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
-  ความรู้เรื่องลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต
-  คดีความผิดนอกราชอาณาจักร
-  หมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ๊ก
-  หมิ่นประมาทโดยการส่งต่อข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น