วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

แนวทางประสานงานการสอบสวนคดีพิเศษ

แนวทางการประสานงานเพื่อปฏิบัติตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔
เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ
ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
               ข้อ ๑  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษในคดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และเห็นว่า เรื่องที่การสืบสวนสอบสวนนั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
             (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
            (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
            (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
            (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
            ขอให้หน่วยงานเจ้าของสำนวน จัดการให้มีการส่งสำนวนการสอบสวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
            กรณีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนและรับโอนสำนวนการสอบสวนมาเพื่อดำเนินการต่อไป แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่ได้มีรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามที่กำหนด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีคำสั่งให้คืนสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
            ข้อ ๒  กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และอธิบดีมีคำสั่งให้ทำการสอบสวนคดีความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ ฯ แล้วต่อมาปรากฏว่า คดีดังกล่าวมีพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสอบสวนอยู่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะแจ้งคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ให้ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าว ให้หัวหน้าหน่วยงานที่ทำการสอบสวนทราบ และให้หน่วยงานจัดการส่งสำนวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗

ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ
             กรณีที่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา ตามที่กำหนดในบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรว่า เรื่องที่การสืบสวนหรือป้องกันปราบปรามอยู่นั้น มีลักษณะของการกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
              (ก)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
              (ข)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
              (ค)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
              (ง)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
              (จ)  คดีความผิดทางอาญา ที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
               ขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแล้วแต่กรณี แจ้งข้อมูลพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือจะทำเป็นคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ พร้อมพยานหลักฐาน ส่งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษขอความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่โดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

                                                                          (ครุฑ)
ที่ ยธ ๐๘๐๐/๕๑๖                                                                                    กรมสอบสวนคดีพิเศษ
                                                                                                                 ๑๒๘ หมู่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ
                                                                                                                 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
                                                                                                                 กรุงเทพฯ  ๑๐๒๑๐
                                                                ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เรื่อง       การเสนอเรื่องชี้ขาดเกี่ยวกับคดีพิเศษ
เรียน      ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อ้างถึง    พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑) มาตรา ๒๑ วรรคห้า
                   ตามบทกฎหมายที่อ้างถึง ได้กำหนดให้ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยว่า การกระทำความผิดใดเป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๑) หรือไม่ ให้กรรมการคดีพิเศษเป็นผู้ชี้ขาด นั้น
                   คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๓ กำหนดแนวทางการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณา มีสาระสำคัญว่า ความเห็นของพนักงานสอบสวนที่ส่งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้เสนอคณะกรรมการคดีพิเศษชี้ขาดตามมาตรา ๒๑ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗  ต้องเป็นความเห็นสูงสุดของส่วนราชการนั้น
                  ทั้งนี้  เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองมาเป็นลำดับก่อนเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณา โดยกรณีของพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมต้องเป็นความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้รักษาการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน แล้วแต่กรณี
                   กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดทราบ และแจ้งพนักงานสอบสวนในสังกัดทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง.
                                                                         ขอแสดงความนับถือ
                                                                           นายธาริต เพ็งดิษฐ์
                                                                    อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

              "มาตรา ๒๑  คดีพิเศษที่จะต้องดำ เนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่คดีความผิดทางอาญาดังต่อไปนี้
             (๑) คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. โดยคดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                (ก) คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
                (ข) คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
                (ค) คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
                (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน
                (จ) คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
              ทั้งนี้ ตามรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่ กคพ. กำหนด
              (๒) คดีความผิดทางอาญาอื่นนอกจาก (๑) ตามที่ กคพ. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
              ในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนสอบสวนสำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ
            บรรดาคดีใดที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้วโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนในคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
            บทบัญญัติในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดด้วย
           ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งหรือข้อสงสัยว่าการกระทำความผิดใดเป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง (๑) หรือไม่ ให้ กคพ. เป็นผู้ชี้ขาด"

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการสอบสวนคดีพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น