วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความรู้เรื่องสถานบริการ (โดยย่อ)


พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙

              “มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
              “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าดังต่อไปนี้
                (๑) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ  (เช่น ดิสโก้เธค)
                (๒) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า  (เช่น โรงน้ำชา)
                (๓) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เว้นแต่     (เช่น สถานอาบอบนวด)
                      (ก) สถานที่ซึ่งผู้บริการได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยตามกฎหมายดังกล่าว หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล  (เช่น นวดแผนไทย)
                     (ข) สถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะต้องมีลักษณะของสถานที่ การบริการหรือผู้ให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ประกาศดังกล่าวจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นด้วยก็ได้  หรือ    (เช่น  สปา)
                    (ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
             (๔) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                    (ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง และยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า    (เช่น คาเฟ่)
                    (ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า   (เช่น คาราโอเกะ)
                    (ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม   (เช่น ผับ)
                    (ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
             (๕) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา
             (๖) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

             สรุป.-  สถานที่มีดนตรี มีนักร้องหรือพนักงานขับร้องเพลงกับลูกค้าหรือนั่งกับลูกค้า เป็นสถานบริการ  หรือยินยอมให้มีการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่มหรือแสดงการเต้น เป็นสถานบริการ , สถานที่มีการจำหน่ายสุราและมีการแสดงอื่นใด แม้ว่าไม่มีพนักงานมานั่งกับลูกค้าและไม่มีการเต้นบริเวณโต๊ะก็ตาม แต่ถ้าเปิดเกินเวลา ๒๔.๐๐ น. ก็เป็นสถานบริการ

           “มาตรา ๔  ห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
           “มาตรา ๒๖  ผู้ใดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือดำเนินกิจการสถานบริการเช่นว่านั้นในระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือดำเนินกิจการสถานบริการผิดประเภทที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๘
             ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา และตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกา ยกเว้นการขายในกรณีดังต่อไปนี้
             (๑) การขายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ
             (๒) การขายในสถานบริการ ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเวลาเปิดปิดของสถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

             สรุป.- กรณีสถานบริการที่ได้รับอนุญาตได้กำหนดเวลาเปิด-ปิด เอาไว้เกินกว่าเวลา ๒๔.๐๐ น. สามารถจำหน่ายสุราในสถานบริการดังกล่าวได้จนกว่าจะถึงเวลาปิดสถานบริการ(ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี)
                  กรณีสถานที่ที่กฎหมายถือว่าเข้าลักษณะเป็นสถานบริการแล้ว แต่สถานที่นั้นไม่มีใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ อัตราโทษอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้

กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๔๗                       
              ข้อ ๑  สถานบริการตามมาตรา ๓ (๑) ให้เปิดทำการได้ ดังนี้
                      (๑) ระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๒.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
                      (๒) ระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันเดียวกัน สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการหรือสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่เพื่อการอนุญาตหรืองดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ผ่อนผันให้
             ข้อ ๒  สถานบริการตามมาตรา ๓ (๒) ให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๑๔.๐๐ นาฬิกา และระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันเดียวกัน
             ข้อ ๓  สถานบริการตามมาตรา ๓ (๓) ให้เปิดทำการได้ ดังนี้
                   (๑) ระหว่างเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันเดียวกัน สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
                   (๒) ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันเดียวกัน สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการหรือสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่เพื่อการอนุญาตหรืองดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ผ่อนผันให้
              ข้อ ๔  สถานบริการตามมาตรา ๓ (๔) ให้เปิดทำการได้ ดังนี้
                   (๑) ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๑.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
                  (๒) ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๔.๐๐ นาฬิกา ของวันเดียวกัน สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการหรือสถานบริการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่เพื่อการอนุญาตหรืองดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการได้ผ่อนผันให้
             ข้อ ๕  สถานบริการตามมาตรา ๓ (๕) ให้เปิดทำการได้ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๑.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
             ข้อ ๖  กำหนดเวลาเปิดทำการตามความในข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ และข้อ ๕ ถ้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ ๑ มกราคม จะเปิดทำการต่อไปจนถึงเวลา ๐๖.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นนั้นก็ได้

            “มาตรา ๑๖ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการ
                (๑) รับผู้มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์เข้าทำงานในสถานบริการ
                (๒) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวาย หรือครองสติไม่ได้เข้าไปหรืออยู่ในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
                (๓) จำหน่ายสุราให้แก่ผู้มีอาการมึนเมาจนประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้
                (๔) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ซึ่งไม่มีหน้าที่เฝ้าดูแลสถานบริการนั้นพักอาศัยหลับนอนในสถานบริการ
                (๕) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ
                (๖) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ เว้นแต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบนำเข้าไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

             “มาตรา ๑๖/๑  ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
               เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการตรวจเอกสารราชการที่มีภาพถ่ายและระบุอายุของผู้ซึ่งจะเข้าไปในสถานบริการ
              ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะเข้าไปในสถานบริการไม่ยินยอมให้ตรวจเอกสารราชการหรือไม่มีเอกสารราชการและเข้าไปในสถานบริการ ให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยพลัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งและหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งและการรับแจ้งให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด
              ในการดำเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสาม ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการจะมอบหมายให้พนักงานของสถานบริการเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้”

         “มาตรา ๑๖/๒  ห้ามมิให้ผู้ใดนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ เว้นแต่ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบและนำเข้าไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย”

         “มาตรา ๒๘/๒  ผู้ใดนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการโดยฝ่าฝืนมาตรา ๑๖/๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ในกรณีที่อาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ในกรณีที่อาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นวัตถุระเบิดหรืออาวุธสงคราม ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้นด้วย”

          สรุป.- ห้ามบุคคลและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพกพาอาวุธเข้าไปในสถานบริการ

             “มาตรา ๒๘/๑  ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖/๑ วรรคสองหรือวรรคสามหรือมาตรา ๑๖/๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
                ผู้ใดเข้าไปในสถานบริการโดยไม่มี หรือไม่ยอมให้ตรวจเอกสารราชการตามมาตรา ๑๖/๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
            “มาตรา ๒๔  เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีเหตุอันควรเชื่อหรือสงสัยว่ามีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ในสถานบริการแห่งใด ให้เจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจเข้าไปตรวจภายในสถานบริการนั้นได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ
             ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตรวจแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง”

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๒/๒๕๕๘
              เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ
               ข้อ ๔ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการ หรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการ
ในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                  (๑) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ
                  (๒) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
                  (๓) เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
                  (๔) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่ากำหนดเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
                  (๕) ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไป
ในสถานที่ของตน
                 ในกรณีที่สถานบริการหรือสถานประกอบการใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดและห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการในสถานที่ดังกล่าวอีกเป็นเวลาห้าปี และหากอยู่ในระหว่างการขอต่ออายุใบอนุญาต ก็ให้สั่งมิให้ต่ออายุใบอนุญาต และมิให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้นั้นเป็นเวลาห้าปี
                 ภายใต้บังคับตามข้อ ๖ กรณีเป็นสถานบริการหรือสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่งปิดสถานประกอบการ และห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการในสถานที่ดังกล่าวอีก
                ในการสั่งเพิกถอน หรือสั่งปิดตามวรรคสอง หากสถานบริการหรือสถานประกอบการนั้นได้รับใบอนุญาตขายสุรา ให้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และให้เจ้าพนักงานสรรพสามิตเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราด้วย แต่ถ้าเป็นสถานบริการหรือสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ให้เพิกถอนใบอนุญาตขายสุรา และห้ามมิให้ออกใบอนุญาตขายสุราให้อีก
                คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดหรือมิให้ต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นที่สุด
                ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลยให้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบริการหรือใบอนุญาตขายสุราที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตสถานบริการ หรือข้อกำหนดการออกใบอนุญาตขายสุรา และการขายสุรา ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นั้นดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
                 กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามวรรคหก ให้นำมาตรการที่กำหนดไว้ในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๙/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาใช้บังคับ
             ข้อ ๕ ในกรณีที่สถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเสียงแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงสถานบริการหรือสถานประกอบการดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญทางเสียงนั้นให้แล้วเสร็จภายในเวลาสามสิบวันและในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้หยุดการใช้เสียงที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญนั้น
                ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวยังไม่ได้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้นำความในวรรคสองของข้อ ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
            ข้อ ๖ ห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา
                หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นโดยเด็ดขาดและเคร่งครัดรวมทั้งให้มีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวทันที
               ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รักษา
ความสงบเรียบร้อยมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคสองด้วย
               ในกรณีที่เป็นสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานประกอบการซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ห้ามมิให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ดังกล่าวด้วย ให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดสถานประกอบการ และห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการหรือสถานประกอบการในสถานที่ดังกล่าวอีก
            ข้อ ๗ ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
             กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นำมาตรการที่กำหนดไว้ในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๙/๒๕๕๗ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาใช้บังคับ

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ความผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยย่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น