วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๑๕/๒๕๕๒
ป.วิ.พ. มาตรา ๘๖, ๘๗
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
              ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ที่ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว...” ซึ่งเอกสารสัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างส่ง มีลักษณะเป็นตราสารต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร เมื่อเอกสารสัญญากู้เงินตามที่โจทก์อ้างมิได้ปิดอากรแสตมป์ และตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งตรงกับต้นฉบับ มีการปิดอากรแสตมป์เพียง ๘๐ บาท ไม่ครบถ้วนจำนวน ๒๐๐ บาท ตามกฎหมาย สัญญากู้เงินดังกล่าวจึงปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ประกอบกับจำเลยให้การต่อสู้ว่า หนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นเอกสารปลอม เพราะมีการกรอกข้อความลงในเอกสารดังกล่าวโดยพลการ โดยที่จำเลยไม่รู้เห็นยินยอมด้วย โจทก์จึงไม่อาจอาศัยหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยรับผิดตามกฎหมายได้
              ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖
              การยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ชอบที่จะกระทำเสียก่อนหรือในขณะที่ได้นำสัญญากู้เงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง หรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมาร้องขอดังกล่าวหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๘๙/๒๕๕๒
ป.พ.พ. มาตรา ๕๗๒ วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
              ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยแบบของสัญญาเช่าซื้อได้บัญญัติไว้เพียงว่า “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ” เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นโดยมีจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้เช่า และมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในช่องเจ้าของ ถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตามแบบที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแล้ว จึงย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาให้ต้องปฏิบัติตามนั้น
              ส่วนการปิดอากรแสตมป์ในตราสารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรก็เป็นเรื่องของการเรียกเก็บอากรอันเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกต่างหาก ทั้งการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ก็มีผลเพียงไม่อาจอ้างตราสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น การที่โจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ให้บริบูรณ์ทันทีในขณะทำสัญญาเช่าซื้อหาเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๔๘๒/๒๕๕๐
ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๗, ๑๑๘
            การที่โจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ยืมเงินครบถ้วนแล้ว และประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๗ ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ แต่การปิดแสตมป์นั้นโจทก์จะต้องกระทำก่อนหรือในขณะนำสัญญากู้ยืมเงินมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาด
            เมื่อโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว สัญญากู้ยืมเงินย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้มิได้ ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้...” ถือได้ว่า โจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ วรรคหนึ่ง
            (หมายเหตุ.- ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ บัญญัติห้ามมิให้ใช้ตราสารที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานใดคดีแพ่ง ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่ชอบ เพราะการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องพยานหลักฐานจะต้องกระทำก่อนหรือในขณะนำสัญญากู้ยืมเงินมานำสืบเป็นพยานหลักฐาน เมื่อนำสืบพยานหลักฐานเสร็จสิ้นจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่สามารถไปแก้ไขข้อบกพร่องของพยานหลักฐานดังกล่าวได้
           (พรเพชร วิชิตชลชัย)

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ

             กระแสการปฏิรูปตำรวจด้วยการแยกหน่วยงานสอบสวนออกเป็นองค์กรอิสระ มีสายการบังคับบัญชาแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำให้พนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็น โดยมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแยกงานสอบสวน สาเหตุมาจากในอดีตสถานีตำรวจหลายแห่งเริ่มขาดแคลนพนักงานสอบสวน เพราะข้าราชการตำรวจสมัครใจโยกย้ายไปอยู่สายงานอื่นกันหมด เช่น งานสืบสวน และงานป้องกันปราบปราม เป็นต้น เนื่องจากงานสอบสวนเป็นงานที่ต้องอยู่กับการพิมพ์เอกสารเป็นหลัก ออกเวรแล้วต้องติดตามตัวพยานมาสอบปากคำ และมีระเบียบ คำสั่ง ที่ออกมากำชับให้ปฏิบัติตามให้ทันระยะเวลาอันมีจำกัด พนักงานสอบสวนบางคนหลงลืมและเลินเล่อจนผิดระเบียบ คำสั่ง อีกทั้ง สายงานสอบสวนมักจะถูกร้องเรียนเป็นประจำ และหาความก้าวหน้าได้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องคลุกคลีอยู่กับประชาชนในระดับล่างมากกว่าจะอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับสูง แต่เดิมรายได้ก็ไม่ได้แตกต่างจากสายงาน ในอดีตผู้บังคับบัญชาได้แก้ปัญหาด้วยการสั่งย้าย รอง สวป. ที่มีคุณวุฒิด้านกฎหมาย มาดำรงตำแหน่ง รอง สวส. เพื่อทำหน้าที่สอบสวน แต่ไม่นานนัก พนักงานสอบสวนก็เริ่มขาดแคลนอีก เพราะภาระงาน รายได้ และความก้าวหน้า ไม่ได้จูงใจให้น่าอยู่ตามเหตุผลข้างต้น
               วิธีการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนที่ขาดแคลนและขาดความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการในระยะหลัง คือ ทำให้พนักงานสอบสวนก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ในอดีต การจะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจะต้องมีตำแหน่งว่างก่อนจึงจะโยกย้ายไปแทนตำแหน่งที่ว่างได้ แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหาทำให้ได้พนักงานสอบสวนที่เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็นระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ได้ทำงานอยู่สถานีตำรวจแห่งเดิม ได้ด้วยเลขตำแหน่งเดิม ไม่ต้องย้ายไปทำงานที่แห่งใหม่ มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย และไม่ต้องย้ายสถานที่ทำงานบ่อย ๆ  โดยไม่ต้องโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างในสถานีตำรวจแห่งอื่น นอกจากนี้ ในอดีต ถ้าเป็นสารวัตรแล้วก็ไม่ต้องเข้าเวรและไม่ต้องทำสำนวนการสอบสวนอีก แต่ผลที่ได้รับจากการแก้ไขปัญหา ทำให้ได้พนักงานสอบสวนในระดับสารวัตร ระดับรองผู้กำกับการ และระดับผู้กำกับการ ที่เลื่อนตำแหน่งนี้มาเข้าเวรสอบสวนตามเดิมอีกด้วย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคราวนี้จึงทำให้พนักงานสอบสวนได้รับความก้าวหน้า ส่วนหน่วยงานก็ได้พนักงานสอบสวนมาเข้าเวรทำสำนวนต่อเนื่องไปอีก
                เมื่อพนักงานสอบสวนเข้าสู่ยุคของการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องปริ้นเตอร์ มาใช้ในงานสอบสวน ทุกคนต่างต้องแสวงหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาใช้แทนเครื่องพิมพ์ดีดเพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนพนักงานสอบสวนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก อุปกรณ์เครื่องพิมพ์เหล่านี้ค่อนข้างเสื่อมค่าเร็ว พนักงานสอบสวนต้องจัดซื้อจัดหาแม้แต่กระดาษที่ใช้พิมพ์ก็ต้องซื้อด้วยเงินของตนเอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งและค่าทำสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานสอบสวน เพื่อให้มีเงินเพียงพอที่นำมาซื้ออุปกรณ์ในการทำงานได้ แต่สถานีตำรวจบางแห่ง ก็มีปัญหาค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ หรือค่าไฟฟ้าที่ใช้ในสถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนบางคนต้องนำเงินตอบแทนที่ได้มาไปเติมน้ำมันรถและจ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อบริการประชาชน ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้พนักงานสอบสวนนำไปเทียบเคียงกับหน่วยงานยุติธรรมอื่นที่ดีกว่า จึงทำให้อยากแยกตัวออกจากองค์กรตำรวจ ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อประชาชนว่า เมื่ออำนาจสอบสวนอยู่หรือแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ๒ ประการ คือ
              ประการแรก การสืบสวนกับการสอบสวน เป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันหรือเรียกได้ว่า "เป็นของคู่กัน" แม้ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะบัญญัติความหมายแยก "การสืบสวน" ออกจาก "การสอบสวน" แต่ในด้านการปฏิบัติงานแล้ว คำว่า "สืบสวนสอบสวน" แทบจะแยกจากกันไม่ออก เพราะการสอบสวนต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ไม่ว่า เป็นการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ เพื่อเก็บข้อมูลบุคคลที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดอาญา การสืบสวนขณะเกิดเหตุ หรือหลังเกิดเหตุ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการซักถามพยานในที่เกิดเหตุ และจากพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในที่เกิดเหตุ ตลอดจนการติดตามแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานที่ต่อเนื่องมาจากการซักถามพยานหรือจากผู้ต้องสงสัย 

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

การทวงถามหนี้

เนื้อหาที่สำคัญและบทกำหนดโทษ (โดยย่อ)
                    มาตรา ๔
                    ผู้ทวงถามหนี้  หมายความว่า เจ้าหนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ด้วย
                   สินเชื่อ  หมายความรวมถึง สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิตการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
                   ลูกหนี้  หมายความรวมถึง ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย
                    มาตรา ๕
                    บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    มาตรา ๘
                    ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ บุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    หากจะติดต่อกับบุคคลอื่นก็ทำได้เพียงสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น และผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังนี้
                    -  แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาให้ทราบ  (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)
                    -  ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ ผู้นั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และผู้นั้นสอบถาม ก็ให้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
                    -  ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใด ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้  (ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) 
                    - ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ เพื่อการทวงถามหนี้  (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)
                    มาตรา ๙
                    การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
                    -  ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ หากไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ไม่สามารถติดต่อได้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
                    -  การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อเวลา ๐๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. และในวันหยุดราชการ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม และคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้
                    -  ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย
                   (ให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด)