วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง คสช. เกี่ยวกับอาวุธปืน ฯ

             ตามที่ คสช. ได้ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ เป็นต้นมา คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ
            ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนฯ เช่น
             -  คำสั่ง คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแก่การสงครามนำส่งมอบ  สาระสำคัญคือ ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดตามกฎหมาย นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ภายในวันที่ ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ ให้ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๒๐ ปี
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๓/๒๕๕๗ ลง ๓ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้ผู้กระทำความผิดในบางกรณีที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๕๗  สาระสำคัญคือ มิให้นำความในคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๙/๒๕๕๗ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการนำส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม สาระสำคัญคือ ให้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยให้ขยายระยะเวลาแก่ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ในการนำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ นำส่งมอบต่อไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ และให้ผู้ที่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเวลา ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนไม่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปีถึง ๒๐ ปี แต่มิได้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗  และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             สรุปได้ว่า  คสช. มีประกาศและคำสั่งให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นั้น นำส่งมอบให้นายทะเบียนท้องที่นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นกรณีที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
              ประเด็นข้อพิจารณา
              (๑)  ประกาศและคำสั่ง คสช. มิได้ยกเว้นความผิด เพียงแต่ยกเว้นโทษ ดังนั้น ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ก่อน ระหว่าง หรือหลังที่มีประกาศ คสช.ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
              (๒)  ถ้าส่งมอบล่วงเลยกำหนด คือ หลังวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ไปแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ แต่กรณีถ้ายังไม่เกินวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ นั้น ไม่ต้องรับโทษ โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๐๖/๒๕๓๑
             การที่จำเลยมิได้นำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ (ฉ.๘) พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๔ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จำเลยถูกจับคดีอันอยู่ในระยะเวลา ๙๐ วัน ที่จำเลยอาจนำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
             ส่วนที่มาตรา ๔ วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมและอยู่ในระหว่างสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ" นั้น หมายความว่า ผู้ที่ถูกจับ ถูกสอบสวน หรือถูกฟ้องอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยถูกจับหลังวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๙๑/๒๕๒๐
             คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๑๒ สั่ง ณ วันที่ ๗ ต.ค.๒๕๑๘ กำหนดให้ผู้มีวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในครอบครองนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ภายในวันที่ ๑๔ ต.ค.๒๕๑๙ ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๑๒ ต.ค.๒๕๑๙
             ฉะนั้น ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องถือว่า คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งสั่งและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๗ ต.ค.๒๕๑๙ ดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น จำเลยยังมีสิทธิที่จะนำวัตถุระเบิดตามฟ้องไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน กรณีต้องด้วย มาตรา ๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่จะต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ

             (๓)  กรณีมีผู้ส่งมอบตามเงื่อนไขและกำหนดเวลา ถ้าเป็นอาวุธปืนสงคราม วัตถุระเบิดหรืออาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ผู้นั้นจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๑๕ "ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ซึ่งยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต" มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๔๒ และตามประกาศกระทรวงกลาโหม กำหนดให้อาวุธปืนสงครามและวัตถุระเบิดเป็นยุทธภัณฑ์ ดังนั้น ผู้ครอบครองจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ ด้วย อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ คือ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐
             มีปัญหาอีกว่า เมื่อมีประกาศ คสช. ยกเว้นโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ แล้ว ยังจะต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ อีกหรือไม่  มีวินิจฉัยไว้  ๒ ประเด็น
             ประเด็นที่ ๑  ในเรื่องนี้เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อบทที่มีโทษหนักสุดไม่ใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดแล้ว ความผิดต่อกฎหมายที่เบากว่าย่อมไม่ใช้ลงโทษเช่นเดียวกัน และขัดต่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริงตามนโยบายของ คสช. ที่ต้องการให้ประชาชนนำอาวุธปืนสงครามนำมาส่งมอบ
            ประเด็นที่ ๒  เมื่อได้รับยกเว้นโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ และตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ แล้ว แต่ความผิดต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น การพกพา การผลิต นำเข้า ประกอบการค้า หรือนำไปใช้กระทำผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังคงเป็นความผิดและรับโทษในความผิดฐานนั้น ๆ โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๒/๒๕๔๙
            ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๓ บัญญัติว่า "ผู้ใดมีอาวุธปืนฯ ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับการยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์"
            แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้น เมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืน

            (๔)  ถ้าบุคคลนำมาส่งมอบภายในระยะเวลาที่กำหนด ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่จะไม่ถูกดำเนินคดีหรือคุมขังในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เจ้าพนักงานจึงไม่ควรจับกุมมาตั้งแต่แรก ถ้าหากมีการจับกุมมาส่งพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ต้องไม่มีการควบคุมผู้ต้องหา และเมื่อมีการสอบสวนเสร็จต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะบุคคลดังกล่าวได้รับประโยชน์จากประกาศหรือคำสั่งที่ออกมานั้น แต่ถ้าหากเจ้าพนักงานตรวจค้นพบการพาอาวุธปืน ฯ ในระหว่างเดินทาง หรือนำไปใช้ในความผิดฐานอื่น ๆ พนักงานสอบสวนย่อมที่จะรับตัวผู้ต้องหาไว้ทำการสอบสวนดำเนินคดีตามข้อเท็จจริง
            (๕)  ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ให้ความผิดตามประกาศและคำสั่งของ คสช. อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร รวมถึงความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกันด้วย ดังนั้น คดีเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่เข้าลักษณะตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการศาลทหาร เพื่อพิจารณาสั่งคดี ไม่ฟ้องหรือยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจต่อไป
             ข้อสังเกต  หลังวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ เป็นต้นไป ถ้าผู้ใดมีอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต (ปืนเถื่อนธรรมดา) หรืออาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ อาวุธปืนสงครามและวัตถุระเบิด จะมีความผิดฐานใดและขึ้นศาลใด
             ข้อพิจารณา  เห็นว่า ถ้าผู้นั้นได้ครอบครองอาวุธปืน ฯ มาก่อนวันที่ ๒๖ มิ.ย.๒๕๕๗ (ซึ่งเป็นวันที่สิ้นสุดการยกเว้นโทษ) ผู้นั้นย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ และฝ่าฝืนประกาศ/คำสั่ง คสช. และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ (ถ้าเป็นยุทธภัณฑ์) แล้วแต่กรณี ต้องส่งสำนวนไปศาลทหาร
             แต่ถ้าผู้นั้นได้ครอบครองอาวุธปืน ฯ มานับแต่วันที่ ๒๖ มิ.ย.๒๕๕๗ เป็นต้นมา ผู้นั้นย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ (ถ้าเป็นยุทธภัณฑ์) แต่ไม่ผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. เพราะเป็นการพ้นวิสัยที่จะนำปืนไปส่งมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ได้ สำนวนการสอบสวนต้องส่งไปยังอัยการจังหวัดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลพลเรือนต่อไป
            ทั้งนี้ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้.
            (คัดย่อมาจากบทความของ  พ.ต.อ.อัมพล วงศ์ใหญ่  รอง ผบก.ภ.จว.ตาก และ  พ.ต.อ.ยงยุทธ ชัยสวัสดิ์  พงส.ผชช.กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.เชียงใหม่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น