ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๔ บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้
แต่ถ้าศาลเห็นว่า ตามสภาพและพฤติการณ์
ผู้กระทําความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทํานั้นเป็นความผิด
ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่า ผู้กระทําไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น
ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๑/๒๕๔๕
|
ป.อ. มาตรา ๖๔
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕, ๑๕๘, ๒๒๑
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๔๖๕ มาตรา ๑๕ , ๖๖
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙) เรื่อง
ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯและตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น
โจทก์ไม่จำต้องแนบประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้อง
เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบรายละเอียดในชั้นพิจารณาได้
คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๙) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน
นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย
และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง
จำเลยให้การว่าทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้วขอให้การรับสารภาพ
จึงถือว่าจำเลยได้ทราบประกาศดังกล่าวแล้วจำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้
จำเลยให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามฟ้อง
ทั้งยังแถลงรับว่า ร้อยตำรวจโท ว.
เป็นผู้ตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลางและของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ จริง ดังนั้น ข้ออ้างที่จำเลยฎีกาว่าของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนจึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้โต้แย้งมาก่อน
จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์
จำเลยจะโต้เถียงเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ของกลางหรือโต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกหาได้ไม่
เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จะรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ
และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๕ และแม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น