วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556

ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนแก่จำเลย

พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย
แก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔
             สรุปใจความสำคัญว่า
             กรณีผู้เสียหาย
             ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหาย ซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ ดังนี้   (มาตรา ๔)
             -    ผู้เสียหาย ต้องเป็นบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น  
             -   ผู้เสียหาย มีสิทธิได้รับเงิน "ค่าตอบแทน" ซึ่งหมายถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับ เพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก หรือเนื่องจาก มีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น 
             -   แต่ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายอันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้  (มาตรา ๑๗)   ได้แก่ 
มาตรา ๒๗๖   ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ...
มาตรา ๒๗๗   ผู้ใดกระทําชําเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน  ...
มาตรา ๒๗๘   ผู้ใดกระทําอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยการขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ  ...
มาตรา ๒๗๙   ผู้ใดกระทําอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ...
มาตรา ๒๘๐   ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๒๗๘ หรือมาตรา ๒๗๙ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ ...
มาตรา ๒๘๑   การกระทําความผิดตามมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก และมาตรา ๒๗๘ ถ้ามิได้เกิดต่อหน้า ...
มาตรา ๒๘๒   ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจาร ...
มาตรา ๒๘๓   ผู้ใดเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจาร ...
มาตรา ๒๘๓ ทวิ  ผู้ใดพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร  ...
มาตรา ๒๘๔   ผู้ใดพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ...
มาตรา ๒๘๕   ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ ...
มาตรา ๒๘๖   ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดํารงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี ...
มาตรา ๒๘๗   ผู้ใด (๑) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่าย ...
มาตรา ๒๘๘   ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกตั้งแต่สิบห้าปี ...
มาตรา ๒๘๙   ผู้ใด (๑) ฆ่าบุพการี (๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่ ...
มาตรา ๒๙๐   ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย  ...
มาตรา ๒๙๑   ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ...
มาตรา ๒๙๒   ผู้ใดกระทําด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตน ...
มาตรา ๒๙๓   ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกินสิบหกปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำ ...
มาตรา ๒๙๔   ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่ง ...
มาตรา ๒๙๕   ผู้ใดทําร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น  ...
มาตรา ๒๙๖   ผู้ใดกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใด ...
มาตรา ๒๙๗   ผู้ใดกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําร้ายรับอันตราย ...
มาตรา ๒๙๘   ผู้ใดกระทําความผิดตามมาตรา ๒๙๗ ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ...
มาตรา ๒๙๙   ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใด ...
มาตรา ๓๐๐   ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส  ...
มาตรา ๓๐๑   หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่น ...
มาตรา ๓๐๒   ผู้ใดทําให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี  ....
มาตรา ๓๐๓   ผู้ใดทําให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี  ...
มาตรา ๓๐๔   ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หรือมาตรา ๓๐๒ วรรคแรก ...
มาตรา ๓๐๕   ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ นั้น เป็นการกระทำ ...
มาตรา ๓๐๖   ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน  ...
มาตรา ๓๐๗   ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุ  ...
มาตรา ๓๐๘   ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๖ หรือมาตรา ๓๐๗ เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้ง ...

               @ หากปรากฏในภายหลังว่าการกระทำที่ผู้เสียหายอาศัยเป็นเหตุในการขอรับค่าตอบแทนนั้น 
                    -  ไม่เป็นความผิดอาญา หรือ
                    -  ไม่มีการกระทำเช่นว่านั้น 
                ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหาย คืนค่าตอบแทนที่ได้รับไป แก่กระทรวงยุติธรรม ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง   (มาตรา ๑๙)

               กรณีจำเลย
              @  ส่วนจำเลย แม้จะไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตราข้างต้น ก็มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย 
"ค่าทดแทน" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่จำเลยมีสิทธิได้รับ  เนื่องจาก
               -  การตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ  และ
               -  ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี  และ
               -  ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด  และ 
               -  มีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี  หรือ
               -  ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด       (มาตรา ๒๐)

               @  ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ ณ สำนักงาน ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายในหนึ่งปี นับแต่
              -  วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด หรือ
              -  วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง เพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือ
              -  วันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด แล้วแต่กรณี     (มาตรา ๒๒)

              การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น  (มาตรา ๕) 
             ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายก่อน ทายาทก็มีสิทธิเรียกร้องและรับแทนได้  (มาตรา ๖)  
-----------------------------------------------------------------------------------------------

(หนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๓/๔๐๓๘ ลง ๒๖ พ.ย.๒๕๕๕ ยกเลิกแล้ว 
ให้ใช้หนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๘๑๗ ลง ๑๑ มี.ค.๒๕๕๘) (คลิกดูที่นี่)

บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ         ตร.                                                        โทร. ๐ ๒๒๐๕ ๓๔๘๕ 
ที่ ๐๐๑๑.๒๓/๔๐๓๘                                                        วันที่  ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๕๕๕ 
เรื่อง    กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา 
ผบช.น.   ภ.๑ - ๙   ศชต.  และ ก. 
            ด้วยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีหนังสือ ที่ ยธ ๐๔๐๖/๘๐๓๒ ลง ๒๓ พ.ย.๕๕ เรื่อง ขอความร่วมมือให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ โดยขอความร่วมมือให้พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิให้กับผู้เสียหายทราบว่า มีสิทธิได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔  

            เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมและให้กับผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหายในคดีอาญาได้รับทราบถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ จึงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ดังนี้
            ๑. ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ หลังจากได้สอบปากคำผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหายในทันที ตามบันทึกการแจ้งสิทธิผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหาย ที่แนบมาพร้อมนี้  เมื่อแจ้งสิทธิแล้วให้นำมารวมไว้ท้ายร่างสำนวนการสอบสวนและมอบสำเนาบันทึกการแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหายไว้เป็นหลักฐาน
            ๒. ให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบว่า หลังจากที่แจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหายทราบแล้ว มีผู้ใดไปยื่นคำร้องขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ณ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หรือกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมหรือไม่ หากไม่มีผู้ใดไปยื่นคำร้อง ให้สอบถามปัญหาข้อขัดข้องและให้คำแนะนำถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้อีกครั้งหนึ่ง
            ๓. คดีอาญาที่จะต้องแจ้งสิทธิให้ผู้เสียหายหรือทายาทผู้เสียหายทราบตามข้อ ๑ ได้แก่ ความผิดตาม ป.อ. ภาค ๒ ลักษณะ ๙  ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๗  ลักษณะ ๑๐  ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด ๑  ความผิดต่อชีวิต มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔  หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐  หมวด ๓  ความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา ๓๐๑ ถึงมาตรา ๓๐๕  หมวด ๔ ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือคนชรา มาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘ 
            จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ                                                                     
                                                                   พล.ต.อ.เอก  อังสนานนท์ 
                                                                    รอง ผบ.ตร.ปรท.ผบ.ตร.

*แบบฟอร์มการแจ้งสิทธิ์ ดาวน์โหลดได้ ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น