วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การยื่นคำขอตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘


              ความเป็นมา พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ มี.ค.๒๕๕๙ โดยมีบทเฉพาะกาล ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัยเดิมที่มีอยู่ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ได้รับการยกเว้นในบางเรื่องโดยมีเงื่อนไขที่จะต้องยื่นเรื่องต่อนายทะเบียนภายในกำหนด
              ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๑๒๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๕๙)
              พนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ภายใน ๙๐ วัน หลังจากที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ (ภายในวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๕๙)
              ถ้าหากผู้ประกอบธุรกิจเดิม ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในกำหนด ก็จะสามารถประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของบริษัท หรือแก้ไขสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
              ถ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเดิม ยื่นเรื่องภายในกำหนด ให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน และจะได้รับการยกเว้นคุณสมบัติ ไม่ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (มัธยมศึกษาตอนต้น) กรณีนี้หากไม่ดำเนินการให้ทันภายในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ จะต้องเสียสิทธิได้รับการยกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวนี้

              ระยะแรก ได้มีการร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกตามความ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยร่างกฎกระทรวงที่สำคัญในการรับคำขอใบอนุญาตและแบบคำขอรับใบอนุญาตแนบท้ายร่างกฎกระทรวง มีดังนี้
               ๑. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับและออกใบอนุญาต การขอต่อ และการอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาต การขอใบแทนและการออกใบแทนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. ....   ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของบริษัทที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นแบบคำขออนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย (แบบ ธภ.๑) ได้ที่ท้องที่ที่ตั้งสถานประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนกลาง ณ สำนักงานทะเบียนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่วนในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
               ๒. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต พ.ศ. ....   ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบคำขอในส่วนของผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต โดยให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต (แบบ ธภ.๖) ได้ที่สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยตั้งอยู่ หรือสถานที่ทำงานปกติหรือภูมิลำเนาของผู้ยื่นคำขอ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ได้รับคำขอ ในกรณีจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่จัดทำหนังสือมอบให้ผู้ยื่นคำขอ เดินทางไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติที่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน หรือพิสูจน์หลักฐานจังหวัด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวจะรวบรวมคำขอพร้อมด้วยเอกสารที่เกี่ยวข้องนำส่งนายทะเบียนจังหวัดต่อไป
               คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต มีดังนี้

การนับวันมีผลบังคับใช้ ในราชกิจจานุเบกษา

การกำหนดวันมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา 

             การกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา สามารถกำหนดได้หลายรูปแบบ ดังนี้
             ๑.  ให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันประกาศ  คือ  ผู้มีอำนาจลงนามในประกาศวันไหน ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
             ๒.  ให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็มีผลใช้บังคับวันนั้น
             ๓. ให้มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็ให้มีผลบังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
             ๔. ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คือ  ให้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปอีก ๙๐ วัน หรือ ๑๒๐ วัน
             ตัวอย่างเช่น
                     กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑ (ดูจากหัวกระดาษมุมบนขวา)  จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. ๒๕๕๑  ไปจนครบ ๖๐ วัน  ซึ่งจะครบ ๖๐ วัน ในวันที่ ๒๙ ก.พ. ๒๕๕๑  กฎหมายให้ใช้บังคับเมื่อพ้น ๖๐ วัน  ดังนั้น  จึงเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๑  เป็นต้นไป (กรณี ๙๐ วัน , ๑๒๐ วัน  หรือ ๑๘๐ วัน  ก็ใช้วิธีการนับเช่นเดียวกัน)
                    กรณีที่กฎหมายให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ถ้ากฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๕๑  วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจึงเป็นวันถัดไป คือวันที่ ๒ ม.ค. ๒๕๕๑
              ซึ่งการกำหนดแบบนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือผู้ถูกบังคับได้รับรู้รับทราบหรือเตรียมตัวก่อนที่จะใช้กฎหมาย

(ที่มา : กระดานถาม-ตอบ ราชกิจจานุเบกษา)