วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความผิดมูลฐานการฟอกเงิน

            “ความผิดมูลฐาน” ในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
              หมายความว่า
              (๑)  ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (คลิกดูที่นี่)
              (๒)  ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหาล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารหญิงและเด็ก เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำ การค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำ การค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี
             (๓)  ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
             (๔)  ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำ โดยทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทำโดยกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน นั้น
             (๕)  ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
             (๖)  ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำ โดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา
             (๗)  ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
             (๘)  ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา
             (๙)  ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป
             (๑๐)  ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด
             (๑๑)  ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่ายซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า
            (๑๒)  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า
            (๑๓)  ความผิดเกี่ยวกับการค้า ตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า
            (๑๔)  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทาง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

            (๑๕)  ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า
            (๑๖)  ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน
            (๑๗)  ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
            (๑๘)  ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
            (๑๙)  ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด
            (๒๐)  ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
            (๒๑)  ความผิดเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ของอาวุธที่ใช้หรืออาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงคราม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์
            (๒๒)  ความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐  (มาตรา ๕๓)
            (๒๓)  ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑  (มาตรา ๑๔)
            (๒๔)  ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.๒๕๕๖  (มาตรา ๑๖)
            (๒๕)  ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.๒๕๕๖  (มาตรา ๒๒)

หมายเหตุ  -
      (๑) ถึง (๗)  บัญญัติโดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒
      (๘)  เพิ่มเติมโดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ พ.ศ.๒๕๔๖
      (๙)  เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑
      (๑๐) ถึง (๒๑)  เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๖

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๘๒๕ - ๕๘๒๖ /๒๕๕๔
พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒
                 เจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ คือ ประสงค์ตัดวงจรและทําลายแรงจูงใจในการประกอบอาชญากรรมที่ให้ผลตอบแทนสูง จึงกำหนดมาตรการดําเนินการต่อการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการที่ดําเนินการต่อทรัพย์สินโดยการให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตกเป็นของแผ่นดิน จึงเป็นมาตรการพิเศษทางแพ่งในการดําเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดทางอาญา จึงมีผลย้อนหลังได้ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น