วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

บันทึกความร่วมมือ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ

แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา 
ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔
-------------------
                  กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือประชาชน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๘ ธ.ค.๒๕๕๗ 
                  กระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งที่ ๕๐๔/๒๕๕๗ ลง ๓๐ ธ.ค.๒๕๕๗ มอบหมายให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสำนักงานตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ และได้มีประกาศกระทรวงยุติธรรม ลง ๒๘ ม.ค.๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ (ฉบับที่ ๓) 

                  หน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่  ประกอบด้วย 
                  ๑. หน่วยที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาของ ตร. มีอำนาจหน้าที่ในการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา 
                  ๒. พนักงานเจ้าหน้าที่  ประกอบด้วย 
                       (๑)  ผบ.ตร.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจทั่วราชอาณาจักร  
                       (๒)  ผบช.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน 
                       (๓)  ผบก.  หรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
                       (๔)  หัวหน้าสถานีตำรวจ  หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน  มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน
                       (๕)  ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าร้อยตำรวจตรีขึ้นไปซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจในเขตรับผิดชอบของตน

                   พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดังนี้
                    (๑)  แจ้งสิทธิ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๔๔ แก่ผู้เสียหายหรือทายาท และผู้ต้องหาในคดีอาญา กล่าวคือ เมื่อสอบปากคำผู้เสียหายหรือทายาทในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๙ (คลิกดูที่นี่) ให้แจ้งผู้เสียหายหรือทายาททราบว่า มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.นี้ โดยให้ยื่นแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ต่อพนักงานสอบสวน
                   (๒)  หากผู้เสียหายหรือทายาทประสงค์จะยื่นคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
                         โดยจัดทำคำขอให้ผู้เสียหายหรือทายาทลงชื่อตามแบบคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (แบบ สชง. ๑/๐๑) ในส่วนที่ ๑ แล้วรับรองในบันทึกของพนักงานสอบสวนจากการสอบสวนในเบื้องต้น ส่วนที่ ๒ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมจัดเตรียมเอกสารประกอบคำขอที่เกี่ยวข้องตามส่วนที่ ๓ ของแบบ สชง. ๑/๐๑ มีดังนี้
                            -  กรณีบาดเจ็บ (ผู้เสียหายยื่นด้วยตนเอง)  ได้แก่
                                 (ก)  เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียหาย (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
                                 (ข)  ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและหรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย
                                 (ค)  ใบรับรองแพทย์โดยแพทย์ระบุอาการ และหรือระยะเวลาการรักษาพยาบาล
                                 (ง)  กรณีผู้เสียหายมอบอำนาจ เอกสารส่วนบุคคลของผู้รับมอบอำนาจพร้อมใยมอบอำนาจ (แบบ สชง. ๗/๑)
                           -  กรณีเสียชีวิต  ได้แก่
                                (ก)  เอกสารส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิต และทายาท (อ้างอิงกับเอกสารในสำนวนคดี)
                                (ข)  ใบมรณบัตร
                           -  กรณีบาดเจ็บแล้วเสียชีวิต  ได้แก่ เอกสารตามข้อ (๑) และ (๒)
                   (๓)  ยกเลิกหนังสือ ตร.ที่ ๐๐๑๑.๒๓/๔๐๓๘ ลง ๒๖ พ.ย.๒๕๕๕ เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติในการแจ้งสิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา และถือปฏิบัติตามหนังสือนี้แทน

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

หนังสือมอบอำนาจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๒๓/๒๕๕๐
ป.วิ.พ. มาตรา ๙๓ (๒) (เดิม)
ป.รัษฎากร มาตรา ๑๑๘
             โจทก์นำสืบส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเป็นพยานต่อศาล จำเลยไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่า โจทก์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจช่วงและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาสืบแต่อย่างใด
             การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าว จึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารนั้นมาสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงสามารถรับฟังเป็นพยานเอกสารได้
             เมื่อปรากฏว่าเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ดังที่จำเลยอ้างไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสาร ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วยเช่นกัน สำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๗๖/๒๕๔๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑, ๑๒๓, ๑๙๕ วรรคสอง, ๒๒๕
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๑, ๖๖, ๗๐, ๗๕
             บริษัท ย. จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ได้มอบอำนาจให้บริษัท ค. จำกัด โดยนาย พ. มีอำนาจร้องทุกข์และดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ กับทั้งให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวแทนผู้เสียหายได้
             แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายคือ บริษัท ค. มิใช่นาย พ.  นาย พ. ในฐานะส่วนตัวจึงไม่อาจมอบอำนาจช่วงให้นาย ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ แต่ปรากฏในหนังสือมอบอำนาจว่า นาย พ. ได้มอบอำนาจช่วงให้นาย ป. ไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะที่นาย พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การแจ้งความร้องทุกข์โดยนาย ป. ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนาย พ. จึงเป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบ เพราะกระทำไปโดยผู้ไม่มีอำนาจร้องทุกข์
             ดังนั้น พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องในข้อหาความผิดนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๔๑๐/๒๕๔๖
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๓
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๔
                 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ก็บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"
                 แม้ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ อันเป็นเจตนารมณ์ที่แตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่ว ๆ ไป ก็ตาม แต่ความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นส่วนหนึ่งแยกต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ ๒ ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น
              ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้นาย ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ เพื่อให้รับผิดในฐานะที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ว่าเป็นจำเลยที่ ๒ นี้ แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๒ ภายในอายุความแล้ว.