วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อสส. แจ้งแนวทางปฏิบัติตามประกาศ คสช. ฉ.115/2557 (ทำความเห็นแย้ง)

ด่วนที่สุด                                                      สำนักงานอัยการสูงสุด
ที่ อส ๐๐๐๗(พก)/ว ๑๘๖                                                                   อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์  
                                                                                                         ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ฯ
                                                                                                         ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง 
                                                                                                         เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ๑๐๒๑๐  
                                                        ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗  
เรื่อง    แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  
เรียน    ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด 
            อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด อัยการจังหวัด 
            ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า
            พัชรกิติยาภา และผู้อำนวยการสำนักงาน 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  สำเนาประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑
            กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 

              ด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นต้นไป นั้น 
             สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการเกี่ยวกับสำนวนคดีอาญา ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการอำนวยการยุติธรรมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นไปแนวทางเดียวกัน จึงกำหนดแนวทางให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้  
             ๑. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๒ ได้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๒ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน 
                 "ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนีไป" 
                  กรณีดังกล่าวเป็นสำนวนคดีอาญาที่ปรากฎตัวผู้กระทำผิดและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบแล้วไม่ว่ากรณีใด หากพนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาเนื่องจากหลบหนี หรือผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในอำนาจศาลที่จะรับฟ้อง ให้พนักงานอัยการรับสำนวนไว้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
             ๒. กรณีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อ ๓ ที่ให้เพิ่มมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้พนักงานอัยการปฏิบัติต่อสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้  
                  ๒.๑ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ให้เสนอสำนวนคดีอาญาให้ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบพิจารณา  
                  ๒.๒ สำนวนคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกา ที่เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่มีความเห็น หรือมีความเห็นหลังวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ให้สำนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องขอรับสำนวนคดีอาญาดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๔๕/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
              จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
                                                                                ขอแสดงความนับถือ 
                                                                                นายมนัส  สุขสวัสดิ์ 
                                                                      รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน 
                                                                                      อัยการสูงสุด 

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การแก้ไข ป.วิ.อ. ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557

           สาระสำคัญของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ฉบับที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลง ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗ เรื่อง  แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           ข้อ ๑  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           "มาตรา ๒๑/๑  สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกัน ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด  การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"

            ความเห็นผู้บันทึก : จากบทบัญญัติ
                     "มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนั้นมีอำนาจชี้ขาด แต่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่รองอธิบดีกรมตำรวจขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด
                      ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในระหว่างหลายจังหวัด ควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้อธิบดีกรมอัยการหรือผู้ทำการแทนเป็นผู้ชี้ขาด
                      การรอคำชี้ขาดนั้น ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน"  
            บทบัญญัติเดิมได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่บทบัญญัติเพิ่มเติมใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจชี้ขาดในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรณีนี้หมายถึงพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นผู้สอบสวนในคดีที่กฎหมายให้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น  เพราะบทบัญญัติมาตรา ๒๑/๑ ได้เปลี่ยนแปลงให้ผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้ชี้ขาดในคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจชี้ขาดในกรณีนี้อีกต่อไป)          

           ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๑๔๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
            "ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป"

            ความเห็นผู้บันทึก : บทบัญญัติ
                    "มาตรา ๑๔๒   ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
                     ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
                     แต่ถ้าเป็นความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ปฏิบัติตามเปรียบเทียบนั้นแล้ว ให้บันทึกการเปรียบเทียบนั้นไว้ แล้วส่งไปให้พนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน"
            แต่เดิมตามวรรคสาม มีการตีความว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ต้องส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ ถ้าไม่มีตัวผู้ต้องหาส่งไปพร้อมกับสำนวนด้วย พนักงานอัยการก็จะไม่รับสำนวน เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้วเท่านั้น แต่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ กำหนดข้อยกเว้นเพิ่มเติม คือ กรณีที่ผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาแล้วหลบหนีไป ก็ให้พนักงานสอบสวนสามารถส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการได้ และพนักงานอัยการต้องรับสำนวนนั้น

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง คสช. เกี่ยวกับอาวุธปืน ฯ

             ตามที่ คสช. ได้ประกาศควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ เป็นต้นมา คสช. ได้ออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ
            ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนฯ เช่น
             -  คำสั่ง คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแก่การสงครามนำส่งมอบ  สาระสำคัญคือ ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดตามกฎหมาย นำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ภายในวันที่ ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ ให้ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๒๐ ปี
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๓/๒๕๕๗ ลง ๓ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้ผู้กระทำความผิดในบางกรณีที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๓๗/๒๕๕๗  สาระสำคัญคือ มิให้นำความในคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ มาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฏหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             -  ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๕๙/๒๕๕๗ ลง ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการนำส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม สาระสำคัญคือ ให้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยให้ขยายระยะเวลาแก่ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงคราม ในการนำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลง ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ นำส่งมอบต่อไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ และให้ผู้ที่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเวลา ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนไม่นำส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๒ ปีถึง ๒๐ ปี แต่มิได้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ ที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗  และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
             สรุปได้ว่า  คสช. มีประกาศและคำสั่งให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นั้น นำส่งมอบให้นายทะเบียนท้องที่นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ ไปจนถึงวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ไม่ต้องรับโทษ ยกเว้นกรณีที่ถูกจับกุมหรือตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนวันที่ ๒๙ พ.ค.๒๕๕๗ และอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด
              ประเด็นข้อพิจารณา
              (๑)  ประกาศและคำสั่ง คสช. มิได้ยกเว้นความผิด เพียงแต่ยกเว้นโทษ ดังนั้น ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ก่อน ระหว่าง หรือหลังที่มีประกาศ คสช.ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
              (๒)  ถ้าส่งมอบล่วงเลยกำหนด คือ หลังวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ ไปแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ แต่กรณีถ้ายังไม่เกินวันที่ ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๗ นั้น ไม่ต้องรับโทษ โดยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๐๖/๒๕๓๑
             การที่จำเลยมิได้นำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ (ฉ.๘) พ.ศ.๒๕๓๐ มาตรา ๔ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จำเลยถูกจับคดีอันอยู่ในระยะเวลา ๙๐ วัน ที่จำเลยอาจนำเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
             ส่วนที่มาตรา ๔ วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมและอยู่ในระหว่างสอบสวน หรือระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุด ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ" นั้น หมายความว่า ผู้ที่ถูกจับ ถูกสอบสวน หรือถูกฟ้องอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยถูกจับหลังวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์จากความในวรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อายุความในความผิดอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา
           มาตรา ๙๕  ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
           (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
           (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
           (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
           (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี
           (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
            ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนี หรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
            มาตรา ๙๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
           มาตรา ๓๙  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
           (๑) โดยความตายของผู้กระทำผิด
           (๒) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
           (๓) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
           (๔) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
           (๕) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
           (๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
           (๗) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๐๒/๒๕๕๔
ป.อ. อายุความ  มาตรา ๙๖
             เมื่อตามคําฟ้องของโจทก์ระบุว่า จําเลยไปเก็บเงินค่าสินค้าหลังสุด ในวันที่ ๒ และ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๓ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นําสืบให้เห็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นําสืบว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
             ดังนั้น แม้ตามพฤติการณ์ที่นาย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รู้ถึงการกระทำความผิด จะถือว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างได้รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อนาย ส.เบิกความว่า ทราบเรื่องที่จําเลยมาเก็บเงินจากร้านค้าเมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ แล้ว แต่โจทก์ร่วมได้มอบอํานาจให้นาย ส.ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔ ก็มิได้หมายความว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ร่วมได้รู้การกระทำผิดของจําเลย เพราะโจทก์ร่วมอาจจะรู้มาก่อนหน้านี้นานแล้วก็เป็นได้
             เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดเจน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จําเลยว่าโจทก์ร่วมได้รู้ข้อเท็จจริงมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๓ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านาย ส. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๔ จึงเกินกว่า ๓ เดือน ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖