วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

คดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๙๗๙ - ๘๙๘๐ /๒๕๕๔
ป.รัษฎากร ตราสารไม่ปิดอากรแสตมป์ หนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย (มาตรา ๑๑๘)
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ ( มาตรา ๔)
             ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่ต้องห้ามที่จะนํามารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
            จําเลยออกเช็คพิพาท ชําระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยโจทก์มีสัญญาเช่าซื้อที่มิได้ปิดอากร
แสตมป์บริบูรณ์มาแสดง ถือได้ว่าจําเลยออกเช็คเพื่อชําระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๒๕๔/๒๕๓๕
ป.อ. มาตรา ๒ วรรคสอง
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔
              คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๓ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗  พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔  มาตรา ๔ บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  (๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ"
              การออกเช็คที่จะมีมูลความผิดนั้นจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระกันก่อน แล้วจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้มีชื่อได้นำเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายมาแลกเงินสดจากโจทก์ ก่อนออกเช็คจำเลยและโจทก์หามีหนี้ต่อกันไม่ การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายหลังที่ออกเช็คจำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ตาม ป.อ. มาตรา ๒ วรรคสอง

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๗๐/๒๕๕๕
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ (มาตรา ๔ (๑) (๓))
             เช็คของกลางมีลายมือชื่อผู้ต้องหาที่ ๒ เป็นผู้สั่งจ่าย แม้จะประทับตราของบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ ก็ตาม แต่ผู้ต้องหาที่ ๒ มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ และเช็คของกลางดังกล่าวเป็นเช็คที่เปิดบัญชีไว้ในนามบริษัท พ. จำกัด มิใช่บัญชีของบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายคือผู้ต้องหาที่ ๒ ลงนามสั่งจ่ายพร้อมประทับตราบริษัท พ. จำกัด
             ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาที่ ๒ จึงไม่ผูกพันกับบริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ บริษัทผู้ต้องหาที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับผู้ต้องหาที่ ๒ ในความผิดฐานร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ให้ใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑

คำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ ๕๓๒/๒๕๕๓
พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๑) (๓)      
             ในการซื้อขายแหวนเพชร ระหว่างนาง บ. กับผู้ต้องหา นาง บ. ผู้ขายได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แก่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้ว กรณีถือได้ว่า นาง บ.ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว จึงย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับคดีให้ผู้ต้องหาชำระราคาค่าแหวนเพชรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคสองและวรรคสาม
             แม้การซื้อขายแหวนเพชรดังกล่าวนาง บ.และผู้ต้องหาจะไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันไว้ก็ตาม การที่ผู้ต้องหาออกเช็คของกลางมอบให้นาง บ. เพื่อชำระหนี้ค่าแหวนเพชรดังกล่าวนั้น ขณะที่ออกเช็คและขณะที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้ต้องหายังคงมีหน้าที่ต้องชำระค่าแหวนเพชรให้แก่นาง บ.ตามสัญญา เช็คของกลางจึงเป็นเช็คที่ออกโดยมีมูลหนี้ที่มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย
             เมื่อเช็คของกลางเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ การที่นาง บ. มอบเช็คของกลางให้ผู้เสียหายเป็นการชำระหนี้ค่าแหวนเพชรดังกล่าว ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ทรงเช็คของกลางโดยชอบ เมื่อผู้เสียหายนำเช็คของกลางไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของผู้ต้องหาจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ฉ้อโกงและความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
.