วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำร้องทุกข์หรือแจ้งเป็นหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๖๔๔/๒๕๔๙
ป.อ. มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗), ๑๒๐, ๑๒๑ วรรคสอง
                  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ เป็นความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๓ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง แต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานในหน้าแรกว่า ผู้เสียหายทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นอีก ๗ คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งไว้เป็นหลักฐานว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยไปหา ส. และขอร้องให้ ส. ไปขอล่าลายมือชื่อชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นหลักฐานร่วมกันขับไล่ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามรวมอยู่ด้วยให้ย้ายไปที่อื่น โดยบอกว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม  และผู้เสียหายทั้งสามได้นำเอกสารเป็นบันทึกข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบ และในหน้าที่สองระบุว่า “จึงมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป” ซึ่งกรณีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามไปแจ้งความเพียงครั้งเดียวตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานฉบับดังกล่าวเท่านั้น
                  เมื่อข้อความในสำเนารายงานประจำวันดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๔๗๑๔/๒๕๓๓
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗), ๑๒๑, ๑๒๓
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓, ๔
                  ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตอนแรกระบุว่า “โจทก์มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย” แต่ในตอนท้ายระบุว่า “ร้อยเวรสอบสวนได้รับแจ้งไว้แล้ว สอบถามผู้แจ้งยืนยันว่ายังไม่มอบคดีแก่พนักงานสอบสวน เพียงแต่ต้องการนำเช็คไปฟ้องร้องต่อศาลทางหนึ่งก่อน”
                  ดังนี้ คำของโจทก์ที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ยังไม่มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าโจทก์กล่าวหาโดยมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๗) คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๙๒๔/๒๕๓๒
ป.อ. มาตรา ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗)
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
                   ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า “โจทก์มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอีกส่วนหนึ่งต่อไป”
                   แสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ส่วนข้อความตอนท้ายหมายความว่า นอกจากโจทก์จะมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการกับจำเลยแล้ว โจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองอีกส่วนหนึ่งด้วย การที่โจทก์ขอรับเช็คกลับคืนไปจึงไม่มีผลกระทบต่อการแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ข้อความในรายงานดังกล่าวจึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ในเวลาไม่เกิน ๓ เดือน นับแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค และนำคดีมาฟ้องภายในกำหนด ๕ ปี คดีไม่ขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา ๙๖



คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๒๐๙/๒๕๓๑
ป.อ. มาตรา ๙๕, ๙๖
ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗)
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
                    ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ของโจทก์มีว่า "...มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง"
                    ดังนี้ เป็นการแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายมิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒ (๗) แล้ว เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด ๕ ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
             (หมายเหตุ.- ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ฐานออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดอันยอมความได้ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ บัญญัติว่า ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดหรือรู้ตัวกระทำผิด มิฉะนั้น คดีขาดอายุความ ดังนั้น ในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าวถ้าไม่อาจดำเนินคดีได้ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือนดังกล่าว จึงต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ความผิดในข้อหานี้มีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ คำร้องทุกข์ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๗) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ต้องมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย และประสงค์จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
             คำร้องทุกข์ที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว จะถือว่าไม่มีการร้องทุกข์และหากมีการฟ้องคดีเกินกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕
             ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คำร้องทุกข์ที่มีข้อความอย่างใด จึงจะเป็นคำร้องทุกข์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
             แนวคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า ไม่เป็นคำร้องทุกข์ เช่นคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๖๑/๒๕๑๗, ๒๔๑๐/๒๕๑๘ (ประชุมใหญ่), ๑๘๔๙/๒๕๑๙, ๑๔๒๕/๒๕๒๑, ๑๗๒๕/๒๕๒๒ , ๓๑๔/๒๕๒๙, ๓๙๗๙/๒๕๓๐ ฯลฯ ซึ่งให้เหตุผลส่วนใหญ่ว่า เป็นการแจ้งความไว้เพื่อมิให้คดีขาดอายุความผู้เสียหายขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดตามทวงถามก่อน ยังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี แสดงว่า ในขณะที่แจ้งความยังไม่มีเจตนาจะให้ผู้ออกเช็คได้รับโทษ
             ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ข้อความในคำแจ้งความมีว่า "...มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้ เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง" ซึ่งมีแนวความเห็นว่ากรณีเช่นนี้ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามแนวคำพิพากษาที่ได้กล่าวถึงเนื่องจากผู้เสียหายยังไม่มีเจตนาจะให้ผู้ออกเช็คได้รับโทษโดยอาศัยพฤติการณ์ในคดีที่ปรากฏ อาทิ :
             ๑. คำแจ้งความของผู้เสียหายเป็นเงื่อนไขว่า “จะขอรับเช็คไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง” เป็นที่เข้าใจได้ว่าในขณะนั้นยังไม่มอบคดีแก่พนักงานสอบสวน
             ๒. การขอรับเช็คคืนไปเป็นข้อสนับสนุนว่า ยังไม่มอบคดี เพราะพนักงานสอบสวนจะไม่มีหลักฐานในการดำเนินคดีอาญา
             ๓. คำแจ้งความของผู้เสียหาย มีลักษณะที่จะไม่ให้คดีขาดอายุความเพื่อจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นข้อต่อรองกับผู้ออกเช็ค
            อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การขอรับเช็คไม่มีผลลบล้างต่อการแจ้งความร้องทุกข์ และจะถือว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการไม่ได้ เพราะถ้อยคำในคำแจ้งความระบุไว้ชัดเจนว่าให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายแล้ว การขอรับเช็คไปดำเนินการอีกทางหนึ่ง เป็นทางเลือกของผู้เสียหายที่นอกเหนือไปจากการมอบคดีแก่พนักงานสอบสวน มิใช่จำกัดว่าจะต้องดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนแต่ทางเดียวเท่านั้น
             อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า แนวคำพิพากษาฎีกาที่อ้างถึงข้างต้นซึ่งวินิจฉัยว่าไม่เป็นคำร้องทุกข์นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาอันพอจะถือได้ว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษเลยซึ่งต่างกับคดีนี้
            คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ คงจะเป็นบรรทัดฐานที่มีลักษณะชี้เฉพาะและเด่นชัดมากขึ้นว่าคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นเช่นใด)
            (สุชาติ สุขสุมิตร)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น